ครม.อนุมัติงบกว่า 1 หมื่นลบ.ช่วยเจ้าของสวนยาง-คนกรีด/ขยายเวลาโครงการชดเชยรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2015 19:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 3/2558 และแนวทางดำเนินการตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ทั้งนี้ การปรับปรุงองค์ประกอบ กนย. มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินการคัดเลือกผู้แทนคนกรีดยางอีก 1 คน และเสนอให้ฝ่ายเลขานุการ กนย. ดำเนินการต่อไป

กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่าในการประชุม กนย.ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 มีมติสรุปได้ ดังนี้

1.1 เห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบ กนย. ในลำดับที่ 30-32 จากเดิมที่มีผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง และผู้อำนวยการองค์การสวนยาง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เป็นผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการแทน และให้เพิ่มเติมผู้แทนคนกรีดยางที่ได้ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เป็นกรรมการ กนย. อีก 1 คน โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

1.2 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รองประธาน กนย. หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม(อก.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ และให้นำข้อสรุปเสนอประธาน กนย. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี

1.3 โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คำนวณวงเงินที่จะจ่ายเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการฯ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว

1.4 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม ครัวเรือนละ 100,000 บาท เนื่องจากมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมาย จึงมีความจำเป็นต้องขยายวงเงินสินเชื่อและค่าชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันคำนวณวงเงินที่จะขยายสินเชื่อและค่าชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติมหากมี และนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนธันวาคม 2558

1.5 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุมเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เห็นชอบให้ อก. สรุปผลการดำเนินงาน และปิดโครงการฯ และมอบหมายให้ กยท. รับข้อเสนอของสมาคมน้ำยางข้นไทยไปพิจารณา ตามที่ อก.เสนอ

1.6 เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองประธาน กนย. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแนวทางการสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยให้นำข้อสรุปเสนอประธาน กนย. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

1.7 เร่งรัดให้หน่วยงานและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มการใช้ยางพาราแปรรูปผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และสร้างความเข้าใจ รวมถึงสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการใช้ยางพาราในประเทศ

2. แนวทางดำเนินการตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

2.1 กลุ่มที่ 1 กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางผู้มีเอกสารสิทธิ์ประกอบด้วยเจ้าของสวนยาง และหรือผู้เช่า และคนกรีดยางในสัดส่วนร้อยละ 60:40 อัตราไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 850,000 ครัวเรือน ที่มีสวนยางเปิดกรีดไม่เกิน 15 ไร่ และกรณีครัวเรือนที่มีสวนยางเปิดกรีดเกินกว่า 15 ไร่ขึ้นไป ให้ไม่เกิน 15 ไร่ สำหรับทะเบียนเกษตรกรใช้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2557/58 ประกอบการดำเนินการ โดย

2.1.1 เจ้าของสวนยาง/ผู้เช่าสวนยาง 900 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ แบ่งเป็น การสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต 700 บาทต่อไร่ และสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต 200 บาทต่อไร่

2.1.2 คนกรีดยาง 600 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เพื่อช่วยค่าครองชีพคนกรีดยาง

2.1.3 วงเงินงบประมาณ 13,132.50 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณสำหรับสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง วงเงิน 12,750 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ใช้เงินสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส. ในปีต่อไป ส่วนค่าบริหารจัดการร้อยละ 3 วงเงิน 382.50 ล้านบาท ขอใช้งบกลางปี 2559

2.1.4 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กยท.

2.2 กลุ่มที่ 2 กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ มอบหมายให้ กยท. ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหาข้อยุติในประเด็นข้อกฎหมาย ก่อนพิจารณาดำเนินการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ