"รัฐบาลใหม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ แต่การใช้เม็ดเงินมหาศาลอาจนำมาสู่การขึ้นภาษี จนกระทบกับชนชั้นกลางและการเติบโตของธุรกิจ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจแคนาดาแม้ว่าจะยังคงอยู่ในภาวะถดถอยจากผลของค่าเงินที่อ่อนตัว บวกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าเศรษฐกิจแคนาดาจะดีขึ้น เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวเป็นบวกอีกครั้ง รวมถึงต้องจับตาดูด้วยว่ารัฐบาลทรูโด้จะประสบความสำเร็จในการเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องโครงการวางท่อส่งน้ำมัน Keystone XL หรือไม่
นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ นครแวนคูเวอร์ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับเอเชีย ซึ่งแคนาดายังมีความน่าสนใจเพราะเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีต่ำเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม G7 ที่มีภาคสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง และได้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการเจรจาในรายละเอียด
"สคร.แวนคูเวอร์กลับมองว่าในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ และมองว่าสินค้าและธุรกิจบริการของไทยหลายหมวดยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันอยู่ แต่อาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนมุมมองและกลยุทธ์สู่การเจาะตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่มีกำลังซื้อสูงให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน" นางนิศาบุษป์กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่แคนาดาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ตลอดจนมีธุรกิจบริการงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่โดดเด่น ดังนั้นนักธุรกิจและผู้ส่งออกไทยที่ต้องการแสวงหาวัตถุดิบ หรือต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้า แคนาดาจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม ประกอบกับปัจจุบันเงินแคนาดาอ่อนค่าลงมาก ทำให้ราคาวัตถุดิบจากแคนาดาปรับลดลงด้วยเช่นกัน ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นโอกาสทองของผู้ผลิตและส่งออกไทยในการนำเข้าวัตถุดิบจากแคนาดาในราคาที่ถูกลง ซึ่งมีรายละเอียดข้อมูลใน www.ditp.go.th(ตลาดแคนาดา) ที่ได้แสดงให้เห็นถึงวัตถุดิบและเทคโนโลยีของรัฐและเมืองต่างๆ ในแคนาดาที่มีศักยภาพ พร้อมตัวอย่างอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่จะได้รับประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบและเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย
สำหรับการเจาะตลาดเฉพาะที่มีศักยภาพในแคนาดา ประกอบด้วย 5 กลุ่มหลัก อาทิ ตลาดชนกลุ่มน้อยที่คิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ในปี 2574 โดยครึ่งหนึ่งเป็นชาวเอเชียและเอเชียใต้ กลุ่มที่มีอำนาจการซื้อสูงสุด คือ ชาวจีน ส่วนสินค้าที่มีลู่ทางการตลาด คือสินค้าอาหาร Ethnic Foods ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ผลไม้สดและแปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารแปรรูปต่างๆ ที่สามารถช่วยย่นระยะเวลาในการประกอบอาหาร สินค้าอาหารแบรนด์ไทยที่เป็นที่คุ้นเคยของชนกลุ่มน้อย อาหารฮาลาล เป็นต้น โดยสินค้ากลุ่มนี้หลายรายการเป็นสินค้าที่ไม่มีกำแพงภาษี เนื่องจากแคนาดามีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า
กลุ่มผู้สูงวัยเบบี้บูมเมอร์สมีจำนวน 9.6 ล้านคนในแคนาดา หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ และได้กลายมาเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคสินค้าและธุรกิจบริการในหลายๆ อุตสาหกรรมของแคนาดา โดยคนกลุ่มนี้มีฐานะการเงินที่ดี มีสุขภาพดีและใช้จ่ายเงินคล่องกว่ากลุ่มอื่นๆ พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าขายปลีก ธุรกิจการเงิน ธุรกิจสุขภาพ ยานพาหนะ อสังหาริมทรัพย์โรงแรม ฯลฯ สินค้าไทยที่มีโอกาสทางการตลาด ได้แก่ สินค้าอาหารที่แคนาดาไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น ข้าว น้ำมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าที่มีการออกแบบและนวัตกรรมเน้นอำนวยความสะดวก สุขภาพ และความปลอดภัยที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม LGBT (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) กลุ่มผู้รักสุขภาพ และกลุ่มผู้รักสัตว์เลี้ยง ซึ่งในแคนาดามีจำนวนครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงครอบครองโดยประมาณ 7.5 ล้านครอบครัว หรือกว่าร้อยละ 57 ของครอบครัวในแคนาดาทั้งสิ้น โดยร้อยละ 21 ของผู้มีสัตว์เลี้ยงเป็นครอบครัวที่มีรายได้สูงที่มากกว่า 100,000 เหรียญแคนาดาต่อปี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะนิยมสินค้าแบบพรีเมี่ยม คุณภาพดีและยินดีที่จะใช้จ่ายซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ตนรัก ไม่ว่าจะเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือไม่ก็ตาม