พาณิชย์ เผย FTA ไทย-ชิลีมีผลบังคับใช้ 5 พ.ย.นี้คาดช่วยหนุนมูลค่าการค้าเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2015 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ชิลี จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและขยายมูลค่าการค้าไทยและชิลีได้มากขึ้น และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดอเมริกาใต้มากขึ้นด้วย เพราะทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ สินค้าชิลีและไทยจำนวน 90% ของรายการสินค้าและมูลค่าการนำเข้า จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ทันที ส่วนที่เหลืออีก 10% ทั้ง 2 ประเทศจะทยอยลดภาษีเป็น 0% ภายใน 8 ปี
"ภายหลังความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี มีผลบังคับใช้ จะช่วยส่งเสริมและขยายมูลค่าการค้าระหว่างไทยและชิลีให้เพิ่มมากขึ้นและเป็นช่องทางให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคอเมริกาใต้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันชิลีจัดเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้ากว่า 960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของมูลค่าการค้าของไทยกับภูมิภาคอเมริกาใต้ทั้งหมด รองจากบราซิล และอาร์เจนตินา"

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ชิลีจะลดภาษีเป็น 0% ทันที เช่น ยานยนต์ ปลาแปรรูป (ปลากระป๋อง) โพลิเมอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์) เม็ดพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง และอัญมณี รวมทั้งยังได้เปิดตลาดข้าวให้กับไทยมากกว่าที่ชิลีทำเอฟทีเอกับเวียดนามและจีน โดยชิลีจะทยอยลดภาษีนำเข้าให้แก่ไทยเป็น 0% ภายใน 5 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยเปิดตลาดข้าวในชิลีได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังจะได้ประโยชน์จากการยกเลิกภาษีสินค้าที่ไทยต้องการนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น ทองแดง สินแร่เหล็ก เป็นต้น รวมทั้งลดภาษีไวน์ 9 รายการ ในระดับเดียวกับที่ไทยได้เปิดตลาดให้ออสเตรเลีย

ส่วนในด้านการเปิดตลาดภาคบริการ ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ชิลีอนุญาตให้คนไทยเข้าไปลงทุนเกือบทุกสาขาบริการได้ถึง 100% ซึ่งมากกว่าในกรอบองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ได้แก่ บริการด้านกฎหมาย บริการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ วิศวกรรม บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการค้าส่ง ค้าปลีก บริการเกี่ยวเนื่องภาคการผลิต

“ชิลีอนุญาตให้บริการนวดแผนไทย และบริการกีฬา นันทนาการ รวมถึงมวยไทย ไปประกอบธุรกิจในชิลีได้ ซึ่งจะทำให้บริการเหล่านี้ของไทยเจาะเข้าสู่ตลาดชิลีได้มากขึ้น เพราะบริการของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลกอยู่แล้ว” รมว.พาณิชย์ กล่าว

ขณะที่สินค้าที่ชิลีส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในกลุ่มแร่ธาตุ ประมง ไวน์ ภาคธุรกิจที่เป็นหลักสำคัญของเศรษฐกิจชิลี คือ ภาคการค้าบริการ อาทิ การค้าปลีก การขนส่ง การสื่อสาร บริการทางการเงิน บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง รวมทั้งโรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 2 ปี ทั้ง 2 ประเทศจะเริ่มเจรจาเปิดเสรีด้านการลงทุนต่อไป

รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ชิลี เป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) การที่ไทยมีข้อตกลงเอฟทีเอกับชิลี น่าจะทำให้ชิลีสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพีได้ หากมีการเปิดรับสมาชิกในเร็วๆ นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ