ในส่วนของการทำงานช่วงแรก จะมีมาตรการต่างๆออกมาเป็นชุดๆ กระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่รากหญ้าผ่านกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งการให้เงินตำบลละ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลได้มีการตรวจทานเป็นอย่างดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินการคลัง และมีการพิจารณาอย่างรอคอบ คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เพราะตนเองไม่ใช่นักการเมืองไม่จำเป็นต้องเอาใจใคร ซึ่งจากมาตรการทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมา มีต้นทุนงบประมาณเพียงประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่นับรวมกับการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ต้องช่วยเหลือเกษตรกรอยู่แล้ว
"เชื่อว่ามาตรการต่างๆที่ออกมาจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ถึงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า เชื่อว่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นไปได้ และปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจไทย คือต้องดูว่าปีหน้าประเทศจีนหากไม่มีปัญหาภายใน มาตรการต่างๆที่ออกมาจะช่วยการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบอย่างต่อเนื่อง"
อย่างไรก็ตามสิ่ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดในการทำงานช่วง 1 ปีครึ่งหลังจากนี้ คือเรื่องของการปฏิรูปซึ่งมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปโดยสร้างความสมดุลจากภายในและภายนอก ซึ่งถ้าหากไม่สร้างการเติบโตจากภายในก็ไม่สามารถไปแข่งขันได้
"ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ไทยจะมีเวลาในการปรับตัว เพราะที่จริงแล้วศักยภาพของประเทศมีความแข็งแรง เงินตราต่างประเทศของเรามีเพียงพอ แต่สิ่งสำคัญ ถ้าหากอีก 5 ปีข้างหน้าเราไม่พัฒนาตัวเองเชื่อว่าประเทศมีสิทธิ์จะถอยหลังรุนแรงมากกว่านี้ โดยมองจากปัจจัยเรื่องการส่งออก อาจจะตกมากกว่านี้และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ เพราะประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ถ้าประเทศไม่แข็งแรงทรัพยากรจะจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้เลย และตัวชี้วัดต่างๆที่ต่างประเทศใช้ประเมินไทยนั้น ยิ่งทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศตกลงทุกปี เพราะฉะนั้นช่วงนี้ตื่นได้แล้ว"
นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลเน้นมากที่สุดคือการทำพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแรง ต้องมีการขับเคลื่อนฐานรากกันเอง โดยรัฐบาลจะเน้นการจัดทำงบประมาณจากฐานแนวดิ่ง คือเน้นการพัฒนาจากฐานรากระดับหมู่บ้าน ตำบลมาสู่จังหวัด ผ่านการทำงานในรูปแบบของ กรอ. โดยให้ทางจังหวัดเสนอแผนงานมาว่าในแต่ละภูมิภาค ต้องการพัฒนาด้านใดบ้าง ส่วนที่ 2 คือ การทำจากแนวราบโดยใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นแกนหลัก ซึ่งเชื่อว่าหากใช้ฐานพัฒนากองทุนหมู่บ้านจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมาก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้ทราบว่าแต่ละหมู่บ้านต้องการอะไรบ้าง และรัฐบาลจะส่งเสริมเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเกษตร มีแผนการหาตลาดให้เกษตรกร
ส่วนที่ 2 คือ เน้นการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งปัจจุบันเรายังให้ความสำคัญกับระบบมหาวิทยาลัย แต่ในอนาคตรัฐบาลตั้งใจจะให้มีการพัฒนาเรื่องของอาชีวะเป็นหลัก ในรูปแบบของเทคนิคัลและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์เอาไว้
ส่วนที่ 3 คือการพัฒนาเรื่องคลัสเตอร์ ซึ่งเรายังขาดเรื่องของนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการคือ มีนวัตกรรมกลายพันธุ์แบบที่ประเทศเกาหลีทำสำเร็จมาแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือหาจุดยุทธศาสตร์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้างที่ต้องการให้ส่งเสริมเป็นหลัก
"เรื่องของคลัสเตอร์ ปัญหาสำคัญคือการติดต่อธุรกิจ ซึ่งวันศุกร์นี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามความคืบหน้าในการลดขั้นตอนการติดต่อธุรกิจของทุกหน่วยงาน เพราะเชื่อว่าหากเราสามารถลดขั้นตอนได้จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนอขงทีมงานด้านกฎหมายก็จะเตรียมการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจมากขึ้น" นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ การปฏิรูปเรื่องงบประมาณโดยจะปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้ Agenda ของรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ การปรองดอง การพัฒนาบริหารจัดการน้ำต้องกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ให้มีความชัดเจน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) ทางสำนักงบประมาณจะเรียกปลัดกระทรวงทุกกระทรวงมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของปีหน้า