ในส่วนของการทำงานช่วงแรก จะมีมาตรการต่างๆออกมาเป็นชุดๆ กระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่รากหญ้าผ่านกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งการให้เงินตำบลละ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลได้มีการตรวจทานเป็นอย่างดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินการคลัง และมีการพิจารณาอย่างรอคอบ คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เพราะตนเองไม่ใช่นักการเมืองไม่จำเป็นต้องเอาใจใคร ซึ่งจากมาตรการทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมา มีต้นทุนงบประมาณเพียงประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่นับรวมกับการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ต้องช่วยเหลือเกษตรกรอยู่แล้ว
"เชื่อว่ามาตรการต่างๆที่ออกมาจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ถึงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า เชื่อว่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นไปได้ และปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจไทย คือต้องดูว่าปีหน้าประเทศจีนหากไม่มีปัญหาภายใน มาตรการต่างๆที่ออกมาจะช่วยการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบอย่างต่อเนื่อง"
อย่างไรก็ตามสิ่ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดในการทำงานช่วง 1 ปีครึ่งหลังจากนี้ คือเรื่องของการปฏิรูปซึ่งมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปโดยสร้างความสมดุลจากภายในและภายนอก ซึ่งถ้าหากไม่สร้างการเติบโตจากภายในก็ไม่สามารถไปแข่งขันได้
"ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ไทยจะมีเวลาในการปรับตัว เพราะที่จริงแล้วศักยภาพของประเทศมีความแข็งแรง เงินตราต่างประเทศของเรามีเพียงพอ แต่สิ่งสำคัญ ถ้าหากอีก 5 ปีข้างหน้าเราไม่พัฒนาตัวเองเชื่อว่าประเทศมีสิทธิจะถอยหลังรุนแรงมากกว่านี้ โดยมองจากปัจจัยเรื่องการส่งออก อาจจะตกมากกว่านี้และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ เพราะประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ถ้าประเทศไม่แข็งแรงทรัพยากรจะจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้เลย และตัวชี้วัดต่างๆที่ต่างประเทศใช้ประเมินไทยนั้น ยิ่งทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศตกลงทุกปี เพราะฉะนั้นช่วงนี้ตื่นได้แล้ว"นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลเน้นมากที่สุดในขณะนี้คือการทำพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแรง ต้องมีการขับเคลื่อนฐานรากกันเอง โดยรัฐบาลจะเน้นการจัดทำงบประมาณจากฐานแนวดิ่ง คือเน้นการพัฒนาจากฐานรากระดับหมู่บ้าน ตำบลมาสู่จังหวัด ผ่านการทำงานในรูปแบบของ กรอ. โดยให้ทางจังหวัดเสนอแผนงานมาว่าในแต่ละภูมิภาค ต้องการพัฒนาด้านใดบ้าง ขณะที่การทำจากแนวราบจะใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นแกนหลัก เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมาก และจะมีส่วนสำคัญทำให้ทราบว่าแต่ละหมู่บ้านต้องการอะไร ซึ่งรัฐบาลจะส่งเสริมเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเกษตร มีแผนการหาตลาดให้เกษตรกร
ส่วนที่ 2 คือ เน้นการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งปัจจุบันเรายังให้ความสำคัญกับระบบมหาวิทยาลัย แต่ในอนาคตรัฐบาลตั้งใจจะให้มีการพัฒนาเรื่องของอาชีวะเป็นหลัก ในรูปแบบของเทคนิคัลและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์เอาไว้
ส่วนที่ 3 คือการพัฒนาเรื่องคลัสเตอร์ ซึ่งเรายังขาดเรื่องของนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการคือ มีนวัตกรรมกลายพันธุ์แบบที่ประเทศเกาหลีทำสำเร็จมาแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือหาจุดยุทธศาสตร์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้างที่ต้องการให้ส่งเสริมเป็นหลัก
"เรื่องของคลัสเตอร์ ปัญหาสำคัญคือการติดต่อธุรกิจ ซึ่งวันศุกร์นี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามความคืบหน้าในการลดขั้นตอนการติดต่อธุรกิจของทุกหน่วยงาน เพราะเชื่อว่าหากเราสามารถลดขั้นตอนได้จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนอขงทีมงานด้านกฎหมายก็จะเตรียมการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจมากขึ้น" นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ การปฏิรูปเรื่องงบประมาณโดยจะปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้ Agenda ของรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ การปรองดอง การพัฒนาบริหารจัดการน้ำ กำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.)สำนักงบประมาณจะเรียกปลัดกระทรวงทุกกระทรวงมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของปีหน้า
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร แสดงความเห็นว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังเริ่มจะแผ่วลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการค้ำยันเศรษฐกิจไว้ไม่ว่าจะด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับโครงสร้างในด้านต่างๆ
อย่างไรก็ดี มองว่าการใช้นโยบายในลักษณะประชานิยมอาจยังต้องมีอยู่บ้างในบางกรณีที่มีความจำเป็น เช่น การช่วยเหลือชาวนา ชาวสวนยาง แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เข้าไปฝืนกลไกราคาตลาด เพราะหากทำเช่นนั้นจะเป็นการสร้างภาระและความเสี่ยงให้แก่รัฐบาลมากขึ้น และหากจำเป็นจะต้องใช้นโยบายประชานิยมก็จะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ข้อ คือ ทำได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เวลาเหมาะสม และทำเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 59 นั้น นายศุภวุฒิ ประเมินว่า จะขยายตัวได้ 3.5% เติบโตขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.5% ขณะที่มองว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปีหน้าจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้ 3% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 4.5-5% โดยมองว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจของจีนซึ่งจะมีผลกระทบต่อทั้งด้านการค้า การลงทุนของไทยหากเศรษฐกิจจีนมีทิศทางที่ไม่ดี
พร้อมมองว่าปัญหาพื้นฐานของไทยในขณะนี้คือกำลังการผลิตมีมาก หนี้สินสูงจากการกู้เงินมาผลิตสินค้า ในขณะที่ความต้องการซื้อมีน้อย ดังนั้นหากถึงเวลาที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้มากขึ้นว่าลงทุนผลิตสินค้าไปแล้วจะขายให้ใคร
นายศุภวุฒิ กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์ด้านการเมืองที่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น นักลงทุนคงต้องถามตัวเองว่าภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และภายใต้โครงสร้างการบริหารประเทศของรัฐบาลในปัจจุบันเช่นนี้ นักลงทุนมีความพอใจหรือไม่ เพราะหากพอใจแล้วก็จะทำให้ตัดสินใจเดินหน้าการลงทุนต่อไป แต่หากนักลงทุนอยากจะรอความชัดเจนจากรัฐธรรมนูญใหม่ การจัดสรรอำนาจใหม่ และรัฐบาลใหม่ ก็จะทำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์และชะลอการลงทุนไว้ก่อน
"นักลงทุนจะพูดเสมอว่าต้องการสิ่งที่คาดการณ์ได้ ซึ่งถ้าคาดการณ์ได้ก็ลงทุน แต่ถ้าคาดการณ์ไม่ได้ก็รอ ซึ่งหลายคนตอนนี้มองว่า รอดีกว่า...หากมีความชัดเจน นักลงทุนก็จะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้" นายศุภวุฒิ กล่าว
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เชื่อว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากมีการการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น และการท่องเที่ยวยังถือเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกเชื่อว่าคงไม่เลวร้ายไปกว่าปีนี้ที่ถือว่าผิดไปจากคาดการณ์ และปีหน้ารัฐบาลก็พร้อมให้การสนับการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น และจะมีการเชื่อมโยงการลงทุนกับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ยังมีความกังวลว่าจะอาจเกิดวิกฤติแบบเดียวกับในกลุ่มอียูนั้น นายปรเมธี เชื่อมั่นว่า จะไม่เกิดปัญหาเศรษฐกิจล้มละลายแบบในกลุ่มอียู เนื่องจากการลงทุนใน AEC เน้นการเชื่อมโยงทางด้านการค้าและการลงทุน โดยไม่ให้มีเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินการคลังในทุกๆประเทศ และยืนยันว่าการจัดตั้ง AEC ไม่มีแนวคิดที่จะหันมาใช้เงินสกุลเดียวกัน
ส่วนปัจจัยทางการเมือง นายปรเมธี ยอมรับว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งจะมีการลงทุนหรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับความคุ้มเคยต่อสถานการณ์และการประเมินความเสี่ยงของผู้ลงทุนเอง แต่จากคำขอการส่งเสริมการลงทุนจากข้อมูลบีโอไอ ในช่วง ม.ค.ถึง ก.ย. พบว่ามีการลงทุนจริง 3 แสนล้านบาท และยังมีนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
"มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะซึมยาว เพราะจากการที่ประสบปัญหาทางการเมืองจนทำให้จีดีพีอยู่ในระดับ 0.9% แต่ในช่วงเวลานี้จีดีพีปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งถือว่าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง"
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ปัญหาในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง จึงทำให้แม้ว่าจะปรับเปลี่ยนรัฐบาลแต่ก็ไม่ช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เพราะนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่ออกมาก็จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาของประเทศในระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศได้อย่างยั่งยืนมากกว่า
"นโยบายของรัฐบาลที่ออกมาก็แก้ปัญหาได้แค่ระยะสั้นๆ กระตุ้นบ่อยๆ เศรษฐกิจก็ดื้อยา อาจจะดีขึ้นไม้ได้นาน เพราะมันมีปัญหาที่โครงสร้าง การใช้ยาแบบเดิมๆ อาจจะไม่ได้ผล ดังนั้นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและมีการบริหารที่ต่อเนื่อง" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ขณะที่นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ประเมินภาวะตลาดหุ้นไทยในปี 59 โดยคาดว่าจะมีกำไรต่อหุ้น(EPS) จะเติบโต 13% จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 6% ขณะเดียวกันทิศทางตลาดหุ้นอาเซียนจะดีขึ้นคาด PE จะอยู่ที่ 13 เท่า จากในปีนี้อยู่ที่ 15 เท่า และมองว่าในระยะหลังมานี้ค่า PE ของแต่ละตลาดหุ้นในอาเซียนเริ่มปรับเข้ามาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้นด้วย
สำหรับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ของตลาดหุ้นไทยในปีหน้าเชื่อว่าจะทำได้ดีกว่าปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 11%