ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 68.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.4
สำหรับปัจจัยบวกมาจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 มาตรการ, ดัชนี SET เดือนต.ค.ปรับเพิ่มขึ้น 45.94 จุด, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.8% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3% , มูลค่าส่งออกเดือนก.ย.ลดลง 5.51%, ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา, ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และผู้บริโภควิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูงแม้เงินเฟ้อติดลบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนตุลาคม 2558 พบว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย และมีความหวังว่าเศรษฐกิจกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวแล้วจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ประชาชนยังรู้สึกว่าราคาสินค้าไม่ได้มีการปรับตัวสูงขึ้น จะเห็นได้จากดัชนีภาวะค่าครองชีพในเดือนต.ค. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 77.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ หรือสูงสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมา แต่ผู้บริโภคยังความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว และราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของผู้บริโภคน่าจะค่อยค่อยปรับขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่น่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงปลายปี
นายธนวรรธน์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง จากปัจจัยลบทั้งจากของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ แต่หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินมาลงสู่ระบบผ่านกองทุนหมู่บ้าน ระดับตำบล และเพิ่มการจ้างงาน ตั้งแต่พ.ย.-ธ.ค.จะทำให้การบริโภคฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ และช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 2.7 - 2.8%
"ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว เศรษฐกิจมีสัญญาณความเชื่อมั่นและฟื้นตัวเป็นลำดับ"นายธรวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดูจากการปรับตัวของการซื้อสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้นทั้งการซื้อที่พักอาศัย เป็นผลจากมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และรถยนต์ที่ถูกกระตุ้นด้วยการปรับเปลี่ยนการคิดภาษีรถยนต์ จึงน่าจะส่วนช่วยในการตัดสินโดยเฉพาะคนชั้นกลาง และปัจจัยจากดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 10 เดือน อยู่ในระดัย 88.4 เทียบกับระดับที่ 84.9 ในเดือนก.ย.จึงเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้า นายธนวรรธน์ มองว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ การเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การเร่งเบิกจ่ายเงินลงสู่ระบบมากขึ้น การเดินหน้าโรดโชว์ผลักดันการส่งออก และมาตรการจูงใจดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนผ่านบีโอไอ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ น่าจะส่งผลต่อการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 รวมไปถึงการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเรื่องนวัตกรรม ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น จึงน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5-4.0% รวมทั้งการส่งออกทั้งปีน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2%
นายธนวรรธน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวในรูปแบบยูเชฟแต่ยังไม่ใช่ลักษณะวีเชฟ ซึ่งจะเป็นลักษณะแอ่งกระทะในครึ่งปีแรก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ระดับที่ไม่สูงมากนัก แต่ราคาน่าจะปรับตัวดีขึ้น และจากปัญหาภัยแล้งที่ยังส่งผลประกอบต่อชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง
ส่วนการเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(TPP) นั้น มองว่ายังไม่ช้าเกินไป และยังมีเวลาที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่มองว่ายังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทยจึงควรรอจังหวะที่ดีก่อน