"นอกจากจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และชุมชนมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชนทั้งประเทศ" นางอภิรดี กล่าว
นอกจากนี้ยังได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้า OTOP เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างโอกาสและขยายเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า โดยจะใช้ “ร้านค้าส่งค้าปลีก" เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า OTOP เพิ่มเติมจากการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อให้เกิดความหลากหลายของสินค้า และเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยให้เป็นที่รู้จักและรับรู้แก่สาธารณชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ ได้ขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้แก่ “ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก" และ “สินค้า OTOP" ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม AEC เพื่อเพิ่มยอดขาย และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง แข่งขันได้ โดยมีกระบวนการ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1) สร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ 2) ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 3) เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและสร้างโอกาสทางการตลาด และจากผลการดำเนินงานมีร้านค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ประจำจังหวัดได้รับการพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบแล้ว 88 ร้านค้า (สาขา 371 แห่ง) ใน 55 จังหวัด ซึ่งเป็นร้านค้าที่มีระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน มีความสวยงาม สะอาด สะดวก สว่าง สามารถลดต้นทุนและเพิ่มยอดขายเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5-10 และในปี 2559 จะดำเนินการส่งเสริมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกให้เป็นร้านค้าต้นแบบเพิ่มขึ้นเป็น 100 ร้านค้า (จากเดิม 88 ร้านค้า) ใน 60 จังหวัด(จากเดิม 55 จังหวัด) และมีร้านค้าปลีกเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ราย(จากเดิม 10,200 ราย)
"กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าดำเนินการส่งเสริมธุรกิจค้าส่งค้าปลีก เพื่อกระจายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมผลักดันให้เกิดการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง ท้องถิ่นมีความมั่นคง และประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน" นางอภิรดี กล่าว