ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในหลายประเภท อาทิ การใช้ระบบการบริหารเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) โดยจ่ายเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ ค่าจ้างประจำ ค่าตอบแทนและเงินอื่นๆ ตรงไปเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิ ได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และจ่ายค่ารักษาพยาบาล จ่ายเงินให้กับผู้ค้าภาครัฐด้วยการโอนเงินค่าจ้าง ค่าซื้อทรัพย์สิน เข้าบัญชีให้แก่ผู้ค้าโดยตรง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำบัตรเครดิตราชการ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ เช่น เดินทางไปราชการ ฝึกอบรม สัมมนา ประชุม เป็นต้น
นายมนัส กล่าวว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางในการปรับปรุงการขอทำบัตรเครดิตราชการ เพื่อให้มีการใช้งานได้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากในปัจจุบันการขอใช้บัตรเครดิตราชการมีความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเพื่อให้ระบบการรับ-จ่ายเงินภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของภาครัฐ คล่องตัว สามารถตรวจสอบได้ ลดโอกาสในการทุจริต และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในการทำธุรกรรมกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น
"กรมบัญชีกลางได้เตรียมการในการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกับโครงการ CGD e-Payment ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับส่วนราชการ และตอบสนองการใช้งานให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบการรับ-จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว" อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
พร้อมระบุว่า ปัจจุบันกรมบัญชีกลางกำหนดระเบียบให้ส่วนราชการรับเงินได้เป็นเงินสด/เช็คธนาคาร ต่อมาขยายให้ส่วนราชการรับบัตรเครดิต โดยส่วนราชการจะติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) นอกจากนี้ รับโดยวิธีโอนเข้าบัญชี แต่ในอนาคตจะมีระบบการชำระเงินแบบ Any ID ซึ่งสามารถใช้บัตรที่เป็นสมาร์ทการ์ด เพื่อใช้บริการทางการเงินหรือซื้อสินค้า-บริการต่างๆ ในการโอนเงินโดยไม่จำเป็นต้องใช้สมุดบัญชี หรือจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งกรมบัญชีกลางจะศึกษาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเตรียมปรับกฎระเบียบให้ส่วนราชการสามารถใช้ Any ID หรือระบบใหม่ๆ ที่ทันสมัย ได้ตามนโยบายของ รมว.คลังต่อไป