การประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าและผลงานของโครงการแก่คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมและสมาคมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยกิจกรรมที่สำคัญภายใต้โครงการ ได้แก่ การจัดทำข้อมูลฐานและการบริหารข้อมูลพลังงาน ที่ได้พัฒนาดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับภาคเศรษฐกิจสาขาย่อยของภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารที่อยู่อาศัย และภาคขนส่ง ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนนโยบายและการติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ในส่วนของมาตรการภาคบังคับได้ศึกษา แนวทางมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยผู้ผลิตไฟฟ้า (Energy Efficiency Resources Standards:EERS) เป็นมาตรการใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ได้มีการดำเนินการแล้วในหลายประเทศ โครงการจึงได้พัฒนาคู่มือแนวทางการออกแบบมาตรการ EERS ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้เสนอให้ควรมีการดำเนินมาตรการนี้ภายใต้แนวคิดการทำ CSR โดยผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานก่อน เพื่อเป็นการนำร่องและติดตามผลการดำเนินงานก่อนที่จะนำสู่การขยายผลต่อไป
นอกจากนี้ โครงการยังได้มุ่งเน้น การเสริมสร้างศักยภาพด้านการดำเนินงานของบริษัทจัดการพลังงาน(Energy Services Company :ESCO) ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในภาคอาคารและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยโครงการฯ ได้นำเสนอรูปแบบ ESCO Facilitation ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้หน่วยงานที่เป็นกลางเข้ามาประสานงานกับ ESCO เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้กลุ่มงาน ESCO จะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มงาน การบูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงานเข้ากับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลงานหลักคือ การศึกษาและพัฒนาร่างข้อเสนอการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMA) สำหรับมาตรการสนับสนุน ESCO และกลไกทางการเงินที่สามารถช่วยพัฒนาตลาด ESCO ในประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศต่อไป
สำหรับกลุ่มงานสุดท้าย คือ เรื่อง การพัฒนาปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นตามเทคโนโลยี โดยเสนอให้มีการเชื่อมโยงการยกระดับอาคารกับฉลากอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงด้วย ซึ่งในกลุ่มงานนี้ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาร่าง “คู่มือแนวทางการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงประสิทธิภาพสูงเชิงสถาปัตยกรรม" ที่ได้พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และสมาคมสถาปนิกสยาม โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งทางโครงการฯ จะตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ก่อนการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเป็นภาษาไทย และจะนำไปเผยแพร่ต่อสถาปนิกและประชาชนทั่วไปที่สนใจต่อไป
อย่างไรก็ดี โครงการความร่วมมือไทย - เยอรมันฯ ยังต้องดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงกำหนดสิ้นสุดโครงการในกลางปี 59 และมีแผนการส่งมอบผลงานกิจกรรมทุกกลุ่มงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและความสัมฤทธิ์ผลของแผนอนุรักษ์พลังงานในระยะกลางและระยะยาวต่อไป