คลัง คาดหนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณ 59 ไม่เกิน 46% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 9, 2015 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และโฆษก สบน. คาดว่า หนี้สาธารณะสิ้นปีงบ 59 คาดว่าจะอยู่ไม่เกิน 46% ของ GDP หากทุกหน่วยงานเดินหน้าตามแผนลงทุนที่ได้รายงานไว้

ล่าสุด หนี้สาธารณะณ สิ้นเดือนก.ย. 58 ที่ระดับ 42.99% ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยตามกรอบเดิมที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 43.5%

สำหรับเหตุผลที่หนี้สาธารณะต่ำกว่ากรอบเดิม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ปรับฐานและมีการคำนวณ GDP ใหม่จึงส่งผลให้อัตราหนี้สาธารณะลดลงด้วย

นอกจากนี้ การเบิกจ่ายเงินกู้ในโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินกู้ลดลง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่เดิมตั้งเป้าจะเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง วงเงิน 2-3 หมื่นลบ. แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เป็นต้น

"การที่หนี้สาธารณะปรับตัวลดลง มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือ หนี้ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจนน่ากลัว แต่ผลเสียคือ การเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ไม่เป็นไปตามเป้า อาจส่งผลกระทบต่อการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง...ประเมินว่าภายในสิ้นปี 58 นี้แนวโน้มหนี้สาธารณะของประเทศ จะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะแผนการลงทุนทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และยังไม่มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนจริง" โฆษก สบน.กล่าว

พร้อมระบุว่า ภาพรวมในการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 58 อยู่ที่ 3.67 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 4 แสนล้านบาท ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้รัฐวิสาหกิจก็เป็นไปตามแผนที่ได้เคยเสนอแก่คณะรัฐมนตรีไว้ ที่ 7.8 แสนล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการก่อหนี้ใหม่และบริหารหนี้ทั้งสิ้น 8.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การก่อหนี้ใหม่ 6.1 หมื่นล้านบาท และการบริหารหนี้ 2.1 หมื่นล้านบาท

สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการน้ำและถนน ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 วงเงิน 8 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้แล้ว 2.4 หมื่นล้านบาท โดยเชื่อว่าภายในสิ้นปี 58 จะสามารถเบิกจ่ายได้ตามแผนที่ 3.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะสามารถอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในไตรมาส 4 นี้ทันที ซึ่งจะทำให้ GDP ในปี 58 เติบโตได้ไม่ต่ำ 3% ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้

โฆษก สบน. ยังกล่าวถึงกรณีที่ Fitch Ratings (Fitch) คงอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไว้ที่ระดับ BBB+ และ F2 และคงสถานะมุมมองความน่าเชื่อถือหนี้ระยะยาวของรัฐบาลในระดับมีเสถียรภาพ(Stable Outlook) ว่า เนื่องจากกระทรวงการคลังสามารถชี้แจงให้ Fitch เข้าใจในรายละเอียดสถานการณ์ของประเทศไทยได้

โดยระหว่างนี้ Fitch ยังจับตาดูการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางด้วย ซึ่งหากรัฐบาลมีการบริหารงานที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการคลัง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยที่น่ากังวล เนื่องจากฐานะการคลังของไทยยังมีความแข็งแกร่ง และนโยบายเร่งการลงทุนของรัฐบาลจะมีผลช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโต ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะกลางได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ