"เราต่อสู้เรื่องนี้มานาน เราดูเหมือนเป็นผู้ร้ายของสังคม แต่ก็ต้องขอให้ศาลคุ้มครอง"นายสังวรณ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
รายงานข่าวจากศาลปกครองเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 14.30 น.ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท ได้ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)
ทั้งนี้ สหภาพฯ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้บทบัญญัติที่นำมาบังคับใช้แก่ กสท.กรณีกำหนดระยะเวลาหรือเรียกให้ กสท.คืนคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมย่าน 1800 MHz นั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 305(1) พร้อมทั้งขอให้ศาลเพิกถอนหรือระงับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ ขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800MHz ทั้งฉบับ
และหากยังมีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามประกาศ กสทช.ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เป็นโมฆะทั้งหมด โดยระบุว่า ผู้ถูกฟ้องไม่มีอำนาจนำคลื่น 1800 MHz ไปประมูลได้เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง
เนื่องจาก กสทช. ไม่มีอำนาจนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปประมูล เพราะ กสท ยังไม่สิ้นสิทธิการถือครองและหรือการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 เนื่องจาก กสท เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการกิจการโทรคมนาคมแทนรัฐตั้งแต่ปี 2519 โดยคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) ซึ่งได้รับจัดสรรคลื่นความถี่จากกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งสิทธิการถือครองคลื่นความถี่
ดังนั้น จึงเป็นสิทธิการถือครองคลื่นดังกล่าวที่มีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2544 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ใช้บังคับแก่ กสทช.เมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวสิ้นสุดลง ไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ฉะนั้น สิทธิการถือครองคลื่นดังกล่าวจึงยังตกเป็นของ กสท