นอกจากนี้การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นให้กลับมา แม้ว่าประเทศไทยจะยังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อีกทั้งงบประมาณสำหรับการลงทุนในปีหน้าที่สูงขึ้น จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปสู่เศรษฐกิจในระดับที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้
ส่วนปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีหน้า คือ ปัจจัยของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และมองว่าในปีหน้าภาคการส่งออกของไทยจะขยายตัวในระดับ 0% หรือไม่ขยายตัว จากปีนี้ที่ภาคส่งออกไทยอาจจะติดลบ 5%
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเงินบาทที่ยังอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่จะหนุนการส่งออกไทยในปีหน้า โดยประเมินค่าเงินบาทในปี 59 ไว้ที่ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากสิ้นปีนี้ที่ 36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมองว่าค่าเงินยังคงผันผวน เกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้ราว 0.25% และปีหน้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง หากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรยังออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งบ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดีขึ้น
ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในปี 59 ภาคการส่งออกของไทยมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยประเมินว่าจะติดลบอยู่ที่ 2-3% จากปีนี้คาดว่าจะติดลบ 5% หลังเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่หากฟื้นตัวขึ้นก็ฟื้นตัวได้เล็กน้อยจากปีนี้ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันภาคการส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง
ส่วนตัวเลข GDP ในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3-3.5% โดยมีปัจจัยด้านการใช้จ่ายโครงการภาครัฐที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนในปีหน้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ทำให้ภาคครัวเรือนเกิดความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปีหน้าคาดว่าจะเป็นการลงทุนตามปกติตามภาวะเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ
ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปี 59 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากปีนี้ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งมาจากการที่ซัพพลายของน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลง หลังสหรัฐฯได้ลดกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale oil & shale gas)