มาตรการที่ 2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 โดย ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจำหน่าย และเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันเกษตรกรในอัตรา ร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรอีกร้อยละ 2 ต่อปี
และ มาตรการที่ 3 คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 โดย ธ.ก.ส.จะจ่ายสินเชื่อชะลอการขายผลผลิตให้แก่เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร โดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเป็นหลักประกัน มีเป้าหมายเก็บข้าวเปลือกไว้รอราคา จำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก ดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงินสินเชื่อ 26,740 ล้านบาท ซึ่งวงเงินสินเชื่อที่เกษตรกรจะได้รับเป็นไปตามคุณภาพข้าวดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,900 – 13,500 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 11,300 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดคละ ตันละ 10,300 บาท ซึ่งกรณีที่เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้รอราคาในยุ้งฉางตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปเพื่อรอราคาและข้าวอยู่ในสภาพดีเกษตรกรจะได้ค่าเก็บรักษาข้าวเพิ่มอีกตันละ 1,000 บาท
“มาตรการดังกล่าว มุ่งเน้นการลดต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการสหกรณ์ เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป"นายลักษณ์ กล่าว