ขณะที่ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 58 หากสถานการณ์ด้านสินเชื่อสามารถขยายตัวได้ถึง 3 แสนล้านบาท จากไตรมาส 4 ปีก่อน สินเชื่อเติบโตที่ระดับ 3.6 แสนล้านบาท จะส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อปีนี้สามารถเติบโตได้ประมาณ 5%
สำหรับในไตรมาส 3 ปี 58 ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ และสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 5.3% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังจากชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 55 โดยสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวที่ 3.7% โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่มพาณิชย์, ธุรกิจการเงิน, บริการ และก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี มีการขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.9% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 5.2% และสินเชื่ออุปโภคบริโภค อยู่ที่ 7.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7.8% โดยเป็นการชะลอลงในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวลดลง อยู่ที่ 2.7%
ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 3 ปี 58 มียอดคงค้างอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 4.89 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จากกรณีลูกหนี้บางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.78% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.38%
“คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในสินเชื่อทุกประเภท โดยสินเชื่อเอสเอ็มอี มีสัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 1.67 แสนล้านบาท สินเชื่ออุปโภคบริโภค 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหนี้เสียในกลุ่มบัตรเครดิตที่เร่งขึ้นค่อนข้างมากจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์มาก โดยคงต้องไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ต่อไปว่าเกิดจากสาเหตุอะไร หรือจะเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อแบบหละหลวมหรือไม่ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดจะสามารถควบคุมได้ เพราธนาคารพาณิชย์จะมีระบบติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด" นายดอน กล่าว
นายดอน กล่าวอีกว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันมาในช่วงก่อนหน้านี้ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นภาพรวมสินเชื่อให้ขยายตัวได้ แต่ยังไม่ใช่ในช่วงนี้ โดยอาจไม่ได้มีผลสนับสนุนมากนัก โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อแบบผ่อนปรน (ซอฟท์โลนต์) วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพราะหากเทียบสัดส่วนกับยอดสินเชื่อรวมทั้งระบบถือว่าน้อยมาก และก่อนหน้านี้เคยมีการคาดการณ์ว่าสินเชื่อซอฟท์โลนต์อาจปล่อยได้ไม่ครบตามวงเงิน
นอกจากนี้ ในส่วนของสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) มียอดคงค้าง 3.09 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 4.58 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเอสเอ็มต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.39% จากเดิมที่ 2.72% รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองสำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 4.45 แสนล้านบาท ขยายตัว 11.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเงินสำรองเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนี้เสียของลูกหนี้รายใหญ่ ทำให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันลดลงมาอยู่ที่ 1539.%
"ในไตรมาส 3 ปี 58 ธนาคารพาณิชย์ยังมีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิหดตัวลง 7% อยู่ที่ 5.01 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.19 ล้านล้านบาท รวมทั้งมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 17.3% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 14.4%" นายดอน ระบุ