ขณะเดียวกันระหว่างนี้ให้นำข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ได้แก่ ข้าวเกรด C ข้าวเสีย และข้าวผิดชนิดมาระบายสู่อุตสาหกรรมแทน จนกว่าจะพ้นช่วงของข้าวฤดูกาลใหม่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลที่รัดกุม เพื่อตัดข้าวกลุ่มนี้ออกจากวงจรข้าวปกติ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวบริโภค รวมทั้งตลาดจะนำมาเป็นข้ออ้างในการกดราคาข้าวฤดูใหม่ไม่ได้
สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายของ นบข.ดังกล่าว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เมื่อวันที่ 28 ต.ค.58 ได้กำหนดแผนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐให้สอดคล้องตามสถานการณ์ ดังนี้
1.ช่วงข้าวต้นฤดูนาปี (พ.ย.58-ก.พ.59) กระทรวงฯ จะทดลองเปิดประมูลข้าวเสียจากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งมาตรการ ข้อกำหนด และกลไกภาคปฏิบัติในการควบคุมไม่ให้ข้าวเสียรั่วไหลสู่วงจรข้าวตามปกติ ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามระบบที่วางไว้ ต้นปีหน้าจะเริ่มนำข้าวเกรด C(ยกเว้นข้าวหอมมะลิเกรด C) จากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากมาเปิดประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมแบบเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาต่อไป ทั้งนี้การระบายข้าวเกรด C ข้าวเสีย และข้าวผิดชนิดเข้าสู่อุตสาหกรรมนั้น กระทรวงฯ จะพิจารณาดำเนินการในปริมาณและช่วงจังหวะที่เหมาะสมด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อวัตถุดิบหลักที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่ อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล และบทลงโทษที่รัดกุม โดยมอบหมายหน่วยปฏิบัติทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการขนย้ายข้าวเสื่อมเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม กำหนดให้ผู้ที่ประมูลได้ต้องมาขออนุญาตขนย้ายข้าวกับกรมการค้าภายใน ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พร้อมทั้งมีการสุ่มตรวจจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นระยะ
2.หลังจากพ้นช่วงต้นฤดูนาปีไปแล้ว คือ ตั้งแต่เดือน มี.ค.59 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะพ้นช่วงที่ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 ออกสู่ตลาดแล้ว กระทรวงฯ จะพิจารณาปัจจัยผลจากภัยแล้งว่าผลผลิตในตลาดมีเพียงพอต่อการบริโภคและการส่งออกหรือไม่เพียงใด เพื่อกำหนดแผนการระบายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การบริหารจัดการข้าวในสต็อกที่มีปริมาณมากถึง 18 ล้านตันเศษ ซึ่งเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพไปแล้วกว่าครึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาได้พยายามดำเนินการความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของภาครัฐเป็นสำคัญ ภายใต้ปัญหาความยุ่งยากและอุปสรรคมากมาย การดำเนินการบางกรณีต้องใช้ความกล้าในการตัดสินใจเนื่องจากหมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหาได้ง่าย รวมทั้งยังต้องดำเนินการกับผู้รับผิดชอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐในอีกหลายกรณี ส่งผลให้ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและคณะทำงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความกังวลด้วยเกรงปัญหาที่จะตามมาภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ตามอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ คณะทำงาน และบุคคล จากการรับผิดทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา ในกรณีที่ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยความสุจริตและยุติธรรมนั้น เป็นมาตรการที่มีส่วนช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ภาคปฏิบัติมีความมั่นใจในการดำเนินงานมากขึ้น เป็นการแก้ไขข้อกังวลที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ ระงับยับยั้งความเสียหายของรัฐจากภาระค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องแบกรับเอาไว้ ทำให้การแก้ไขปัญหาข้าวในสต็อกของรัฐบาลดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้