(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คาด GDP ปี 58 โต 2.9% ก่อนขยายตัวได้ 3-4% ในปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2015 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 58 จะขยายตัวได้ราว 2.9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.7-3.2% และในปี 59 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.0-4.0%

โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.9% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 0.9% ในปี 2557 และถือสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยการส่งออกและการผลิตภาคเกษตรทั้งปีมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดไว้ แต่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีที่คาดว่าจะสูงกว่า 30 ล้านคน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปีจะลดลง 5.0% การบริโภคของครัวเรือน ขยายตัว 2.0% และการลงทุนรวม ขยายตัว 4.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.8% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.3% ของ GDP

"ถ้าเป็นไปตามที่เราประมาณการณ์ไว้ ก็จะเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น จาก 0.9% ในปี 57 มาเป็น 2.9% ในปีนี้ และที่ 3-4% ในปี 59...เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้ 2.9% ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และมีความชัดเจนของการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนที่โตเพียง 0.9% ด้านเสถียรภาพอื่นๆ เรามั่นคง เงินเฟ้อติดลบไม่มากตามราคาน้ำมัน ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 6.3% ของ GDP" เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ มีโอกาสจะชะลอลงจากไตรมาส 3 เนื่องจากฐานของไตรมาส 4/57 มีการขยายตัวในระดับสูง

ทั้งนี้ สภาพัฒน์มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 59 มีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ จากที่การตั้งงบประมาณขาดดุลในปี 59 ไว้ที่ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 58, โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะประกวดราคาในปี 58 รวม 6 โครงการ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และปี 59 อีก 12 โครงการ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท รวมทั้งโคงการน้ำและถนนในระยะเร่งด่วน วงเงินกู้ 77 พันล้านบาท

2.แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 จากมาตรการสำคัญของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงเดือนต.ค.-พ.ยง58 รวม 6 มาตรการ วงเงินค่าใช้จ่ายรวม 3.59 แสนล้านบาท สินเชื่อ 2.7 แสนล้านบาท รายงานงบประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท, มาตรการที่เป็นเม็ดเงินสินเชื่อและงบประมาณส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปี 58 แต่มาตรการลดภาษีและร่วมทุนจะส่งผลถึงปี 59

3.การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออก โดยปี 58 เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3% ต่ำสุดในรอบ 7 ปี ราคาส่งออกลดลง 2% มูลค่าส่งออกลดลง 5% ขณะที่ปี 59 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 0.5-1.5% และมูลค่าส่งออกฟื้นตัวเป็นบวกช้าๆ

4.แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น โดยคาดว่าในปี 59 เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง

5.ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบรายไตรมาส จะพบว่าในไตรมาส 3/58 กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส

6.ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มในระดับต่ำ หนุนอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ เอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 52.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนปี 59 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 55 ดอลลาร์/บาร์เรล

7.ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยังเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งต้นทุนการเดินทางยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศดีขึ้น ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศลดลงตามการอ่อนค่าของเงินบาท นักท่องเที่ยวระยะไกลมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

นายปรเมธี ยังกล่าวด้วยว่า แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้านั้น เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าลงกว่าในปีนี้ โดยคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 36-37 บาท/ดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ขณะที่มองว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีหน้ามีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นกว่าปีนี้เล็กน้อย ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ดอลลาร์/บาร์เรล จากปีนี้ที่เฉลี่ย 52.50 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2558 และปี 2559 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ภายในปี 2558 - 2559 แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 2.การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว การดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อให้เกิดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย และการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม 3.การใช้จ่ายเม็ดเงินภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย 4.การดูแลฐานรายได้เกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการที่อนุมัติไปแล้ว

5.การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตร โดยการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง การดูแลต้นทุนการผลิตทางการเกษตร การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย และการดูแลให้ค่าเช่าที่ดินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาผลผลิต และ 6.การดูแลภาคการส่งออกให้สามารถขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.0% โดยการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนที่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกการดูแลค่าเงินบาท การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญๆ การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาสินค้าในตลาดโลกและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้า การลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐและการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและการประมงที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การก่อการร้ายในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า อาจจะมีผลกระทบในระยะสั้นๆ ต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวโลกรวมทั้งไทย แต่เชื่อว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีมาตรการที่เข้มงวดอยู่แล้วในสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งเมื่อรัฐบาลสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวแล้วก็ยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวของไทยจะยังเติบโตได้ดี และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยยังคาดว่าไตรมาส 4 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.1 ล้านคน จากในไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ 7.3 ล้านคน ส่วนในปีหน้าคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 32.5 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.65 ล้านล้านบาท

"เหตุในฝรั่งเศสคงคล้ายกับไทย(ระเบิดราชประสงค์) คงมีผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ความเข้มแข็งของการท่องเที่ยวของไทยเอง และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของฝรั่งเศสคงมีผลกระทบระยะสั้น ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ คงเตรียมการดูแลความปลอดภัยและเข้มงวดมากขึ้น...เมื่อภาครัฐให้ความมั่นใจ การท่องเที่ยวยังเป็นตัวสำคัญของเศรษฐกิจโลก และเชื่อว่ายังขยายตัวได้ดี" นายปรเมธี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ