ทั้งนี้ คงต้องติดตามอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความต่อเนื่องของการใช้จ่ายเม็ดเงินในส่วนของภาครัฐ ที่อาจช่วยเสริมจังหวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2559 ให้มีภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งสัญญาณบวกในส่วนนี้จะมีความสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชนให้สามารถประคองเส้นทางการฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 4/2558 ยังน่าจะสามารถประคองโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่องเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส หลังจากที่ขยายตัว 1.0% (QoQ, s.a.) ในช่วงไตรมาส 3/2558 โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจะมาจากความต่อเนื่องของการใช้จ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ รวมถึงเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการเยียวยาประชาชนผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนการเร่งดำเนินโครงการลงทุนขนาดเล็กของภาครัฐในหลายๆ ส่วน เพื่อช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมในทุกภูมิภาค
อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 อาจมีอัตราที่ชะลอลงมาที่ 2.4% (YoY) จากค่าเฉลี่ยประมาณ 2.9% (YoY) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ประกอบกับยังมีแรงฉุดจากการหดตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคเกษตรกรรม ที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญและความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
สำหรับภาพรวมทั้งปี 2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 2.8% โดยมีแรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มทยอยมีโมเมนตัมดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2558 ขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 2.8% ในไตรมาส 2/2558 โดยแรงหนุนสำคัญยังมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และรายรับจากการส่งออกภาคบริการ