อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำ และความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งในปีหน้าเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อรายได้ของภาคเอกชน ซึ่งจะยังฉุดรั้งการบริโภคภาคครัวเรือน ขณะที่การส่งออกยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไป
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัว 2.9%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) เร่งขึ้นจาก 2.8%YOY ในไตรมาสก่อน และขยายตัวได้ 1.0%QOQSA (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล) ดีขึ้นจาก 0.3% QOQSA ในไตรมาส 2 โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 นี้ถือว่าดีกว่าที่คาด
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 มีแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐ แม้ว่ารายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรและค่าจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภาคเอกชนไทย (ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างประเทศ) ยังขยายตัวได้ 1.5%YOY ในไตรมาส 3 ไม่ได้ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก โดยการบริโภคสินค้าไม่คงทนเติบโตดีขึ้นเล็กน้อย เช่น อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 2.6%YOY จาก 2.5%YOY ในไตรมาสก่อน และหมวดที่อยู่อาศัย ประปา และไฟฟ้า เติบโต 4.0%YOY จาก 3.0%YOY ขณะเดียวกัน การลงทุนภาครัฐขยายตัว 15.9%YOY แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนแต่ก็ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยในไตรมาส 3 มีการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการจัดการน้ำและขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน
การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อน การลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัว 0.3%YOY จากที่เติบโต 2.7%YOY ในไตรมาส 2 จากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่ลดลง นอกจากนี้ การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรก็หดตัวสูงถึง 8.5%YOY รุนแรงกว่าไตรมาสก่อนที่ลดลง 4.8%YOY เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือน การส่งออก และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว
ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร โดยเศรษฐกิจภาคบริการโรงแรมและภัตตาคารชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 10.9%YOY จาก 18.7%YOY ในไตรมาสก่อน รวมถึงการบริการขนส่งชะลอตัวลงเหลือ 7.1%YOY จาก 9.4%YOY ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงจากเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร
ภาคอุตสาหกรรมเติบโตสูงกว่าที่คาดไว้มาก การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตเป็นบวก 0.8%YOY ทำให้ GDP ไตรมาส 3 เติบโตสูงกว่าที่อีไอซีประเมินไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งดัชนีชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ผ่านมาไม่ได้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาหดตัวถึง 6.1%YOY
ดุลการค้าและบริการเกินดุลสูงขึ้นจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นและการนำเข้าที่ลดลง ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวลดลงเหลือ -1.9%YOY จาก -4.0%YOY ในไตรมาสก่อน และปริมาณการนำเข้าสินค้าที่หดตัวมากขึ้นเป็น -3.3%YOY ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลสูงขึ้น ชดเชยดุลบริการที่ลดลงจากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว