“สาเหตุหลักที่ทำให้ความมั่นใจลดลงอย่างมีนัยในปีนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวตั้งแต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการบริโภคในตลาดและการค้า การลงทุนชะลอตัวตามลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ได้ขยายวงกว้างและส่งผลกระทบไปยังกลุ่มตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นใจของซีอีโอเอเปกโดยรวม" นาย ศิระ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่าแม้ความมั่นใจต่อการเติบโตของธุรกิจและรายได้ในปีหน้าจะลดลง แต่ซีอีโอเอเปกถึง 53% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยส่วนใหญ่ (68%) มองว่าการกระจายการลงทุนใหม่ๆ จะอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยประเทศ 5 อันดับแรกที่ซีอีโอเอเปกจัดให้เป็นตลาดที่น่าลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ได้แก่ อันดับ 1 สาธารณรัฐประชาชนจีน (53%), อันดับ 2 อินโดนีเซีย เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา (52% เท่ากัน), อันดับ 3 สิงคโปร์ (46%), อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ (45%) และอันดับ 5 ไทย (42%) ซึ่งขยับขึ้นจากปีก่อนที่อันดับ 8 และนำหน้ามาเลเซีย และ ญี่ปุ่น (40% เท่ากัน)
“แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจลงทุน นั่นเพราะเราเป็นฐานการผลิตการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ขณะที่ระบบการเงินการธนาคารของเราก็มีความเข้มแข็งกว่าในอดีตเยอะ นอกจากนี้ หากเปิดเออีซี ไทยยังมีความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางอาเซียนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กลางโลจิสติกส์ หรือ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก อย่างก็ไรดี เราต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถและความน่าสนใจของไทย ไม่ให้แพ้เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งทั้งสองตลาดมีขนาดใหญ่ และค่าจ้างแรงงานยังถูกกว่าไทยมาก"
นายศิระ กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยส่งผลให้ประเทศสามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง และ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง โดยมองว่า ความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มขึ้นของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในหมู่ภาคธุรกิจ ผนวกกับ นโยบายหรือสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะยังทำให้ไทยมีความน่าดึงดูดในระยะยาว
ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ที่ประกาศโดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เติบโตที่ 2.9% จาก 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ
ในด้านการเจรจากรอบการค้าเสรีในภูมิภาค นายศิระ กล่าวว่า ซีอีโอเอเปกส่วนใหญ่ต่างเห็นประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าที่หลากหลาย โดย 1 ใน 4 ของซีอีโอที่ทำการสำรวจเชื่อว่า การจัดตั้งเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific: FTAAP) จะเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ในปี 2563 ขณะที่ซีอีโอเอเปก 35% ยังมองว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเปิดในปลายปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการค้า การลงทุนของธุรกิจในภูมิภาค และอีก 24% คาดว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) จะช่วยเพิ่มการส่งออกและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเปก
ด้านนาย เดนนิส เอ็ม แนลลี่ ประธาน บริษัท PricewaterhouseCoopers International Ltd. กล่าวว่า กระแสเศรษฐกิจยุคแบ่งปัน (Sharing economy) ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของธุรกิจในกลุ่มเอเปก สอดคล้องกับผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาของ Strategy&ที่พบว่า เอเชียกลายเป็นแหล่งของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาองค์กร (Corporate R&D) อันดับหนึ่งของโลก (35%) แซงหน้าทวีปอเมริกาเหนือที่ 33% และยุโรปที่ 28%