ทั้งนี้ การเข้ามาตรวจจะมีตารางเวลาว่า หลังลงนามบันทึกความเข้าใจกันแล้ว ICAO จะแจ้งให้ทราบก่อน 120 วันก่อนจะมาตรวจและประเทศไทยหลังจากลงนามแล้วจะต้องส่งแบบสอบถามให้ ICAO ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่รวมอยู่ใน 120 วันดังกล่าว
หลังจาก ICAO ตรวจสอบจะส่งผลการตรวจสอบให้ไทยเป็นรายงานลับภายใน 60 วัน เมื่อไทยได้รับผลการตรวจแล้วมีข้อใดที่ต้องแก้ไขก็ให้ดำเนินการแก้ไขและส่งแผนปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องกลับไปที่ ICAO ภายใน 60 วัน ซึ่งการตรวจของ ICAO ในครั้งนี้จะไม่เหมือนที่ผ่านมา ICAO สามารถเข้าไปตรวจได้ถึงที่ทำการเลย สามารถตรวจสอบการอำนวยความสะดวก สามารถสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายว่ามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ถือเป็นการตรวจสอบที่ค่อนข้างละเอียดและคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญว่าเรื่อง Security ยากกว่าเรื่อง Safety
"เดิมเราติดเรื่อง Safety อยู่แล้ว เรื่อง Security เราก็ต้องบูรณาการอย่างชัดเจน ต้องผ่านไปให้ได้มิเช่นนั้นจะมีผลไปถึงเรื่อง Safety ที่เรายังติดค้างอยู่ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยโดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นหลักในการประสานงานกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กระทรวงกลาโหม กระ ทรวงการคลัง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เตรียมการในส่วนนี้ให้พร้อมที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจแล้วนำกลับมารายงานคณะรัฐมนตรีก่อน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานพิเศษหารือกับผู้แทนสหภาพยุโรป รวมทั้ง FAA โดยมีนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข กรรมการและเลขานุการศูนย์ฯ และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นรองหัวหน้าคณะ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวนไม่เกิน 5 นาย ร่วมเป็นคณะ เดินทางไปหารือเพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าของฝ่ายไทยในรายละเอียดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยใช้งบประมาณของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน(ศบปพ.)
พร้อมทั้งเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับ Cooperation Framework Agreement on Aviation Safety โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม และให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการเร่งรัดผลักดันให้ผู้ที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศทุกรายของสายการบินทั้ง 41 สายการบินเข้ามาดำเนินกระบวนการเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศฉบับใหม่ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยให้มีมาตรการลงโทษทางปกครองเกี่ยวกับใบอนุญาต เช่น พักใช้หรือระวังใบอนุญาต ฯลฯ สำหรับสายการบินที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือมีความเสี่ยงสูงด้านความไม่ปลอดภัย ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่เกิดความเสียหายต่อการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะต้องไม่ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศฉบับใหม่เพิ่มเติม จนกว่าจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern-SSC) ได้โดยเร็วที่สุดด้วย
ทั้งนี้มอบหมายให้ รมว.คมนาคม นำเสนอแผนปฏิบัติการที่มีรายละเอียด ขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินงาน กิจกรรม ทุกเรื่อง โดยเฉพาะแผนงานด้านการจัดการบุคลากรของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ต่อที่ประชุม ครม.รับทราบภายในเดือนธันวาคม 2558 และให้คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินการในภาพรวมแล้วรายงานให้ทราบทุกระยะ