(เพิ่มเติม1) ครม.เห็นชอบกรอบความร่วมมือรถไฟไทย-จีน คาดหาผู้รับเหมาก่อนพ.ค. 59

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 17, 2015 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเกี่ยวกับการจัดทำกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เพื่อให้โครงการเป็นรูปธรรม ชัดเจนมากขึ้น

และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้อยู่ในดุลยพินิจของ คค. โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยและให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้แทนสำหรับการลงนามดังกล่าว

สำหรับสาระสำคัญของร่างกรอบความร่วมมือฯ มีดังนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่าความร่วมมือจะเป็นโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานสายแรกของประเทศไทย 2 เส้นทาง (โครงการรถไฟ) คือ 1. หนองคาย – โคราช – แก่งคอย – ท่าเรือมาบตาพุด 2. แก่งคอย – กรุงเทพฯ

โครงการรถไฟจะดำเนินการเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – แก่งคอย ช่วงที่ 2 แก่งคอย – ท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 3 แก่งคอย – โคราช และช่วงที่ 4 โคราช – หนองคาย ภายใต้รูปแบบอีพีซี (วิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง) และให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (เอสพีวี) เพื่อลงทุนในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ระบบรถไฟ รวมถึงการเดินรถและการซ่อมบำรุง

(2) ส่วนหนึ่งของงานการก่อสร้าง (รวมถึง แหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้า การจ่ายกำลังไฟฟ้า ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบอาณัติสัญญาณ)

ทั้งนี้ ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (รวมถึงการสำรวจและออกแบบ) ฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการขอความเห็นชอบ และการเวนคืนที่ดิน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายจะร่วมหารือและทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับระบบรถไฟขนาดทางมาตรฐาน และก่อนการก่อสร้างโครงการ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพิจารณาและปรับปรุง “รายงานการศึกษาทางเทคนิคและเศรษฐกิจ" ที่จัดทำโดยฝ่ายจีนจนกว่าจะเป็นที่พึงพอใจของทั้งสองฝ่าย

อนึ่ง รูปแบบการดำเนินโครงการใช้หลักการ Engineering Procurement and Construction(EPC) จะแบ่งแยกความรับผิดชอบงานกันอย่างชัดเจนทั้งเรื่องขอบเขตงาน แหล่งเงินทุน

"ในเรื่องของแหล่งเงินทุน งบประมาณจะมาจากหลายแหล่ง ในส่วนของไทยเป็นการระดมทุนในประเทศ จากงบประมาณภาครัฐและเงินกู้ในประเทศ ขณะที่ของจีนจะใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีน หรือเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ยอมรับได้ ซึ่งเงินกู้ที่จะมาจากต่างประเทศจะต้องไม่มีดอกเบี้ยที่สูงกว่าแหล่งเงินกู้จากในประเทศ เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุด"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ในด้านการเดินรถและซ่อมบำรุง ช่วง 3 ปีแรก ทางจีนรับผิดชอบเป็นหลัก โดยในช่วง 3-7 ปีไทยและจีนจะรับผิดชอบในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่หลังจาก 7 ปีไปแล้วทางไทยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่จีนจะเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสาระของกรอบความร่วมมือมีผลเมื่อมีการลงนามทั้ง 2 ฝ่าย มีเวลา 5 ปี ต่ออายุโดยอัตโนมัติหากไม่มีบอกยกเลิก แต่ถ้ายกเลิกต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า กรอบความร่วมมือดังกล่าวมีความชัดเจน ทำให้เห็นความก้าวหน้าในโครงการแม้ว่าจะยังมีการเจรจาต่อรองเรื่องของดอกเบี้ยอยู่

นอกจากนี้ ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้จะจัดกิจกรรมในเชิงสัญญลักษณ์โดยการวางศิลาฤกษ์ที่ศูนยควบคุมและบริหารการเดินรถ ที่เชียงรากน้อย เพื่อให้เห็นว่า โครงการมีความก้าวหน้าและมีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือนธ.ค.58 จะมีการกำหนดวันลงนามสัญญากับจีน จะหารือกับจีนอีกครั้ง ในการลงนามครั้งนี้ก็จะลงนามไปพร้อมกับการลงนามซื้อขายข้าว และลงนามซื้อขายยางพาราระหว่างรัฐาลไทยจีน พร้อมกับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน

โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน จะเริ่มต้นโครงการในวันที่ 19 ธ.ค.58 เป็นพิธีเปิดตัวโครงการ เริ่มจากศูนย์ควบคุมการเดินรถและบริการเดินรถที่สถานีเชียงรากน้อย พร้อมจัดนิทรรศการเปิดตัวโครงการให้เห็นภาพทั้งโครงการทั้งหมด จากนั้นในช่วงเดือน ธ.ค.58 - พ.ค.59 กระทรวงคมนาคมจะดำเนินขั้นตอนปรับปรุงศึกษารายงานความเหมาะสมโครงการให้ครม.อนุมัติ รวมทั้งหาตัวผู้รับเหมาไทยที่จะเข้าร่วมงานก่อสร้าง สำหรับเส้นทางที่ 1 เส้นทางกรุงเทพ-แก่งคอย และเส้นทางที่ 3 เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา ซึ่งขั้นตอนนี้เห็นชอบร่วมกันว่าทางการจีนได้มอบหมายให้ CREC (China Railway Group Limited) และ CRCC (China Railway Construction Corporation Limited) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีนเป็นผู้ดำเนินการ

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้ขอให้บริษัทก่อสร้างของไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในงานก่อสร้างด้วย ซึ่งทางจีนไม่ขัดข้อง แต่ขอให้เป็นบริษัทที่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานงานก่อสร้าง ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทยก็มีศักยภาพและมีขีดความสามารถรวมทั้งเทคโนโลยีที่จะทำได้ และจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมภาคการก่อสร้างด้วย

"เราจะมีส่วนรวมคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างกัน คงจะเป็น short list ให้กับจีน และเห็นชอบร่วมกัน โดยคาดว่าจะหาผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการนี้ก่อนเดือนพ.ค.59 โดยจีนบอกว่าเส้นที่ 1 และ 3 ทำได้เร็วก่อน"นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนพ.ค.59 จะเริ่มงานก่อสร้างโครงการนี้ โดยใน 6 เดือนนี้ (ธ.ค.58-พ.ค.59) จะมีข้อสรุปให้ความเห็นชอบโครงการ, สัญญางานก่อสร้างระหว่างไทย-จีน, รูปแบบการลงทุน, เงื่อนไขการเงินกู้เป็นเรื่องสุดท้ายที่จะเจรจาต่อไป และจะได้ปรับปรุงรายงานการศึกษาความร่วมมือไทยจีนเพื่อเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ