นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรสู่พื้นดินเป็นอันตรายแก่ประชาชน เกษตรกรที่อยู่บริเวณดังกล่าว ทั้งผู้ก่อกองไฟหรือผู้อยู่ใกล้เคียง อาจได้รับอันตรายถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงขนาดแรงดันหลายแสนโวลต์ดูดได้ รวมถึงอาจเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลเสียหายต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ “เสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง" จึงต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา
นายสุธน กล่าวว่า เสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ดูแลและรับผิดชอบโดย กฟผ. เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของระบบไฟฟ้า เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงาน" ทำหน้าที่เชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าจากระบบผลิตไปยังระบบจำหน่าย คือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
กฟผ.จึงขอความร่วมมือไม่จุดไฟเผาไร่อ้อยและเผาวัชพืช ในพื้นที่ใกล้เสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะประชาชนเท่านั้น แต่ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ นอกจากนี้ ควันและเขม่าจากการเผาไร่อ้อยและเผาวัชพืชดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ตลอดจนเป็นอันตรายต่อทัศนวิสัยในการเดินทางและการคมนาคม อีกทั้งเมื่อเกิด “ไฟตก ไฟดับ" ย่อมส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ต้องหยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง