(เพิ่มเติม1) "สมคิด"ระบุถึงคิวเอกชนต้องลงทุนแล้ว-ลั่นรถไฟฟ้าทุกสายพร้อมประมูลใน H1/59

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2015 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา"Thailand Economic Outlook 2016" ว่า ปี 59 จะถือเป็นปีแห่งการลงทุนขนานใหญ่ของไทย หลังจากที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไว้เพื่อเอื้อต่อการลงทุนแล้ว ดังนั้น จึงถึงเวลาที่เอกชนต้องลงทุนเพื่อช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า พร้อมระบุว่าในครึ่งปีแรกของปี 59 รถไฟฟ้าทุกสายจะต้องพร้อมประกวดราคา
"ปีหน้าถือเป็นปีแห่งการลงทุน รัฐบาลจัดทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว...ถ้าไม่ลงทุนปีหน้า จะเก็บเงินไว้ทำไม" นายสมคิด กล่าว

พร้อมระบุว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ทยอยประกาศออกมาก่อนหน้านี้ คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ประกอบกับหากไม่เกิดสถานการณ์รุนแรงกับเศรษฐกิจจีนก็เชื่อว่า GDP ของไทยในปีนี้อาจจะเติบโตได้มากกว่า 3%

นายสมคิด ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการคือการเพิ่มความความสามารถทางด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะมติ ครม.เมื่อวานนี้ที่จะเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรม 10 ด้าน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้รัฐบาลจะตั้งกองทุนขึ้นมาดูแล โดยจะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า

ประกอบกับรัฐบาลจะมีการโรดโชว์ โดยตนเองจะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อชี้แจงต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้เพื่อดึงความสนใจญี่ปุ่นให้มาลงทุนในคลัสเตอร์มากยิ่งขึ้น

ส่วนการทำงานในด้านอื่นๆ ในเรื่องของการจัดเรทติ้งของประเทศ กระทรวงการคลังได้เร่งรัดเรื่อง Ease of Doing Business ซึ่งยังติดขัด 2 เรื่อง คือ เรื่องผลศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และ ประเด็นการขออนุญาตเกี่ยวกับยาจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมั่นใจว่าหากรัฐบาลตั้งใจทำอย่างเต็มที่เรทติ้งของไทยในปีหน้าต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การทำงานด้านเชิงรุกในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการเจรจาทางด้านการค้า โดยจะเน้นการเจรจาในรูปแบบของ PPP ว่าสนใจจะเข้าร่วมลงทุนหรือไม่

"การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลจะเน้นการจัดทำงบประมาณตามยุทธศาสตร์แต่ละด้าน เช่น ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความสามารถทางด้านการแข่งขัน การพัฒนาบุคลากร ความมั่นคง และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งหากจัดทำได้ตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาวางเอาไว้ก็จะมีเม็ดเงินเข้ามามากขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดในเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น

ส่วนเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ นายสมคิด กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินนโยบาย ซึ่งสัปดาห์หน้าจะครบรอบ 3 เดือนที่ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามา มาตรการที่ออกมาในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ให้กองทุนหมู่บ้าน มาตรการช่วยเหลือ SMEs มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ยืนยันว่า นโยบายที่ออกมาทั้งหมดไม่ใช่โครงการประชานิยม ไม่ได้มีผลเรื่องการหาเสียง แต่เป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนเนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราซึมลึก มาตรการเหล่านี้จึงออกมาเพื่อความมั่นใจให้กับเศรษฐกิจภายในมากขึ้น และผลที่ออกมาขณะนี้คือตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น โดยจากที่สภาพัฒน์เคยประเมินว่าไตรมาส 3 จะโต 2.9% แต่ขณะนี้มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเม็ดเงินในส่วนของ 3 มาตรการจะเริ่มลงไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ และถ้าหากเศรษฐกิจจีนไม่มีปัญหา มองว่าปีนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ดีไม่ดีอาจจะทะลุเกิน 3% ด้วย

"แนวโน้มเศรษฐกิจที่ซึมลงไปนั้น ขณะนี้ความมั่นใจเริ่มกลับมา ดัชนีความเชื่อมั่นก็ดีขึ้นจากการประเมิน ไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.9% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.8% แม้เราจะผงกหัวขึ้นมาแต่ก็ไม่มากนัก ในยามที่เศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ก็ถือว่าดีขึ้นมาแล้ว ซึ่งเม็ดเงินทั้งหมดจะลงไปในช่วงเดือนพฤศิกายน-ธันวาคมนั้นถ้าไม่มีอะไรเหลือบ่กว่าแรง จีนไม่มีเหุตุการณ์ ดีไม่ดีปีนี้จะทะลุ 3%"

นอกจากนี้เม็ดเงินอาจจะเข้าไปสู่ระบบต่างในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งรัฐบาลอยากจะให้เอกชนมีการลทุนเพิ่มมากขึ้นและหากจะให้เห็นจีดีพีเราเติบโตได้ 5-6% นั้น จะต้องทำให้การลงทุนในประเทศอย่างน้อย 10% ต่อปี

อย่างไรก็ตามในขณะนี้คงจะหวังการส่งออกกลับไปโตถึง 10% คงเป็นไปไม่ได้แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักพัฒนาศักยภาพในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างกลุ่ม Start up ใหม่ๆให้เกิดขึ้นในประเทศให้มากยิ่งขึ้น และภาคเอกชนควรรู้จักที่จะเรียนรู้สิทธิประโยชน์มากขึ้น เพราะรัฐบาลได้ผลักดันมาตรการต่างๆออกมาเต็มที่แล้ว เหลือแต่เอกชนว่าจะเข้ามาลงทุนเมื่อไหร่

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า จะมีการนำเม็ดเงินจากการประมูลคลื่น 4G ไปใช้ยกระดับฐานรากด้านการเกษตรและสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนจนทั่วประเทศ ซึ่งการกระจายเม็ดเงินสู่ฐานรากผ่านเงินกองทุนหมู่บ้าน มองว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิด Local Economy กระจายความเจริญและการพัฒนาในระดับท้องถิ่น และหากการประมูลคลื่น 900 MHz อีก 2 ใบๆละ 5 หมื่นล้านบาทจะมีเม็ดเงินนำมาออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้นด้วย ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเอาไว้อีก

"ไม่มีอะไรต้องกังวล รัฐบาลดูแลให้ เราไม่ประมาทและอาจจะมีก๊อก 2 เพราะหากประมูลคลื่น 900 MHz อีก 2 ใบได้ในราคาใบละ 5 หมื่นล้านบาทรวมกับที่ประมูลคลื่น 1800 ดูหน้าผมสิ ผมไม่ worry เลย" นายสมคิด กล่าว

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหา 2 สิ่งไปพร้อมกัน ทั้งปัญหาระยะสั้นและปัญหาระยะยาว ซึ่งปัญหาระยะยาวนั้นจะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่จะต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ, การป้องกันปัญหาการคอร์รัปชั่น, การปฏิรูประบบการเงิน และการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ

สำหรับปัญหาระยะสั้นที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างนั้น ประกอบด้วย 1.โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่มีความสมดุล เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปจนไม่ได้สนใจการพึ่งพาการลงทุนในประเทศ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจและการค้าโลกประสบปัญหาชะลอตัวจึงทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันในช่วงหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเป็นตัวช่วยต่อยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีเพียงแค่การลงทุนก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด และนำมาซึ่งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างรายได้ใหัแก่เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างชัดเจน

2.โครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรและภาคแรงงานไม่มีความสมดุล นำมาซึ่งปัญหาแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ และ 3.ความไม่สมดุลในการเติบโตของหัวเมืองหลักกับท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเจริญในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถึง 44% มีการกระจุกตัวอยู่เฉพาะใน กทม. ปริมณฑล และภาคตะวันออกเท่านั้น

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงทุนของประเทศที่จะต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน ลดการแทรกแซงทางการเมือง และสามารถเดินหน้าโครงการลงทุนต่อได้แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ขณะที่ภาคการเกษตรควรหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้น ลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ส่วนภาคอุตสาหกรรมและภาคแรงงานนั้น จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ศึกษาและให้ความสำคัญกับกติการการค้าโลกมากขึ้น และสุดท้ายในการปฏิรูประบบราชการนั้น การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ในเรื่องการป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการก็ควรต้องมีระบบที่ช่วยปกป้องผู้ที่กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐที่ดำเนินการมานั้นถือว่ามาถูกทาง และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคต่างจังหวัดที่ซบเซา แต่ทั้งนี้ปัญหาที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขให้เห็นผลคือ ทรัพยากรทนุษย์ รวมถึงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยประสบปัญหาความไม่สมดุลด้านโครงสร้างที่พึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก โดยตลอด 18 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยติดอันดับ 1-5 ของโลกในสัดส่วน GDP จากภาคอุตสาหกรรม นำหน้าประเทศ จีน เกาหลีใต้ ที่เป็นประเทศพึ่งพิงอุตสาหกรรมสูง โดยในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมา ไทยครองอันดับ 1 ของการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรม สวนทางกับสัดส่วนภาคการบริการที่ประเทศอื่นมีการพัฒนาแต่ไทยยังคงอยู่อันดับเดิมและลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยยังกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศในภาคบริการมากเกินไปจากกฏระเบียบต่างๆ ที่ห้ามคนต่างชาติเข้ามาแข่งขันในภาคบริการ แม้ในระยะหลังมีการผ่อนปรนก็ตาม

นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจัยเศรษฐกิจในปีหน้ายังมีความผันผวนหลายด้าน โดยจะต้องเตรียมรับมือจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เตรียมพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินบาท รวมถึงต้องติดตามปัญหาเศรษฐกิจจีนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ