นอกจากนี้ อาจจะได้เห็นภาคการส่งออกของไทยพลิกกลับมาเป็นบวกได้ หลังจากติดลบมา 3 ปีติดต่อกัน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออก แม้ว่าจะยังคงมีผลกระทบจากการส่งออกไปยังยุโรปที่ความต้องการสินค้ายังไม่เพิ่มขึ้น และการส่งออกไปจีนที่ยังชะลอตัว หลังจากเศรษฐกิจจีนเผชิญภาวะการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และปีหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะอยู่ที่ระดับ 6.5% จากปีนี้ที่คาดขยายตัว 6.9%
สำหรับปัจจัยที่ยังน่ากังวลยังคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางทำให้กระทบภาคการส่งออกของไทย อีกทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อรายได้และการบริโภคของภาคครัวเรือนในประเทศ และปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูงที่ยังอยู่ในระดับสูง กดดันการบริโภคภายในประเทศ
ส่วนค่าเงินบาทในปี 59 มองว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้ที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้าจะเห็นภาพของการอ่อนค่าอย่างชัดเจนในช่วง 3 เดือนแรกของปี หลังจากคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธันวาคมนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0-0.25% และคาดว่าในปี 59 เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯอีก 0.75% มาอยู่ที่ราว 1.25% ในสิ้นปี 59
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีหน้าคาดว่าจะปรับเพิ่มอีก 0.25% จำนวน 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นจะส่งผลให้ตลาดเงินมีความผันผวนค่อนข้างมาก และมีผลไปถึงการไหลกลับของกระแสเงินทุนไปจากตลาดเกิดใหม่ไปยังสหรัฐฯ