การประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิก IEA และประเทศพันธมิตรได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการด้านพลังงานก่อนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม
ในที่ประชุมฯได้กำหนดกรอบแนวทางไว้ 3 ด้าน คือ 1. การขยายขอบข่ายความร่วมมือด้านพลังงานของ IEA ไปยังประเทศพันธมิตรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก 2. การรักษาความมั่นคงด้านพลังงานรับมือสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 3. การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นอนาคตของการพัฒนาพลังงานโลกให้เกิดความยั่งยืนและเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดจากทั่วโลก
โอกาสนี้ รมว.พลังงานของไทย ได้เข้าพบ Dr.Fathi Birol ผู้อำนวยการทบวงพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA และหารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานและ IEA เกี่ยวกับการพัฒนาระบบรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อรองรับปัญหาสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในอนาคต พร้อมหารือทวิภาคีกับ Mr. Tord Lien รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและปิโตรเลียมประเทศนอร์เวย์ ในฐานะประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมที่สำคัญของโลก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านระบบสัมปทานปิโตรเลียม