ปัจจุบันกองทุนมีบริษัทที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (Asset Manager) ให้กับ SMEs จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท ยูนิจิน เวนเจอร์ส จำกัด 2.บริษัท วิน แคร์ เซอร์วิส จำกัด 3.บริษัท เอส แอนด์ เอส แมเนจเม้นท์ คอนซัลแทนท์(เอเชีย) จำกัด 4.บริษัท สปริงไทด์ (ประเทศไทย) จำกัด 5. บริษัท เอสเอสพีพี แคปปิตอลส์ จำกัด และ 6.บริษัท เอ็ม.ที.อาร์. แอสเส็ท แมนเนเจอร์ จำกัด ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลและช่วยเหลือ SMEs จัดทำแผนการลงทุนเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาร่วมลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนพ.ย.58 คณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน(Investment Committee) จะสามารถอนุมัติร่วมลงทุนใน SMEs 3 ราย คือ บริษัท ไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทยแช่แข็ง วงเงิน 15 ล้านบาท และ SMEs รายใหม่ กลุ่ม Start up ที่มีการจัดทำแผนธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้วอีก 2 ราย คือ บริษัท ฟรุตต้า เนเชอรัล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มธัญพืชเพื่อสุขภาพ วงเงิน 5 ล้านบาท และบริษัท ช๊อกโก การ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ให้บริการด้าน Loyalty Card ในการจัดเก็บฐานข้อมูลให้กับผู้ประกอบการ SMEs วงเงิน 5 ล้านบาท รวมเป็น 25 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อเข้าร่วมลงทุนอีกประมาณ 20 ราย วงเงิน 350 ล้านบาท ซึ่งมีธุรกิจหลากหลายทั้งทางด้านอาหาร ไอที เครื่องสำอาง และยานยนต์ และธนาคารยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อคัดสรร SMEs เข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุนเพิ่มเติมอีก เพื่อจะขยายวงเงินร่วมลงทุนจาก 500 ล้านบาทในกองที่ 1 เป็น 2,000 ล้านบาท ในกองอื่นๆ ต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.58) นางสาลินี กล่าวว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกที่ 1,120 ล้านบาท ซึ่งมีผลกำไรต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยในเดือน ต.ค.58 มีกำไรสุทธิ 159 ล้านบาท เป็นผลมาจากธนาคารสามารถบริหารจัดการต้นทุนเงิน (Cost of fund) ได้ดีขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่ไม่สูง ประกอบกับการที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพดี (Good Loan) ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ดอกเบี้ยรับและรายได้ด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ประกอบกับขณะนี้ภาระตั้งสำรองของธนาคารลดลง เนื่องจากศาลแพ่งพิจารณายกฟ้องคดี FRCD ระหว่าง SME Bank กับ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด(ไทย) ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องการตั้งสำรองเพิ่มเรื่อง FRCD ของธนาคารลดลงมาก และหากคดีสิ้นสุดในลักษณะเช่นนี้ ธนาคารมีโอกาสจะนำเงินสำรอง 2,000 ล้านบาท โอนมาเป็นเงินสำรองส่วนเกินสำหรับเงินให้สินเชื่อต่อไป
สำหรับยอดสินเชื่อ ณ สิ้น ต.ค.58 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 84,614 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 69,236 ราย โดยลูกหนี้มีจำนวนรายเพิ่มขึ้นจาก ณ ธ.ค.57 เท่ากับ 1,561 ราย ลูกหนี้ใหม่ทุกรายที่เพิ่มขึ้นมีวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท และเพียง 19 พ.ย.58 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 25,854 ล้านบาท และยังมีสินเชื่ออนุมัติแล้วยังค้างการเบิกจ่าย 4,520 ล้านบาท รวมเป็นสินเชื่อที่ธนาคารอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 30,374 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกค้า 12,763 ราย (โดยมียอดสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 2.38 ล้านบาท)
ในส่วนของสินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ณ วันที่ 19 พ.ย.58 ธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ววงเงิน 6,726.15 ล้านบาท 2,129 ราย(เฉลี่ยรายละ 3.16 ล้านบาท) แต่การเบิกจ่ายทำได้เพียง 2,205.01 ล้านบาท 772 ราย เนื่องจาก บสย.อยู่ระหว่างปรับระบบงานการค้ำประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อระบบงานของ บสย.เสร็จเรียบร้อย การเบิกจ่ายสินเชื่อของธนาคารก็จะทำได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ณ วันที่ 19 พ.ย.58 ได้รับคำขอแล้ว 5,012.80 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 2,031.68 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,846.19 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกค้า 589 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าที่อยู่ในกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว
สำหรับยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้น ต.ค.58 NPLs คงเหลือ 26,312 ล้านบาท (คิดเป็น 31.10% ของสินเชื่อรวม) โดยเดือน ต.ค.58 NPLs เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยประมาณ 189 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะมีลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งเป็นธุรกิจโรงสีประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะรายได้ของลูกหนี้ยังไม่ฟื้นตัว แต่การมี NPL เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคาร เพราะธนาคารมีเงินสำรองส่วนเกินรองรับอยู่ถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งสามารถเพียงพอที่จะรองรับลูกหนี้ NPL ที่อาจเพิ่มขึ้นบ้างได้อยู่แล้ว และในส่วนลูกหนี้รายเล็กในเขตภูมิภาค ธนาคารได้ดูแลอย่างใกล้ชิด จำนวนการตกชั้นลูกหนี้มีไม่มากนัก