"ในไตรมาส 3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประเมินจีดีพีที่ 2.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.8% และรวมทั้ง 3 ไตรมาส อยู่ที่ 2.9% ดังนั้นในไตรมาส 4 เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐบาลน่าจะลงสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้จีดีพีในไตรมาส 4 โต 3.7% ได้ และจะทำให้ทั้งปีโต 3.1% แต่หากไตรมาส 4 โตแค่ 3.3% ทั้งปีจะโตได้ 3% แต่ภาพรวมถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับเศรษฐกิจไทยที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันลอยกระทงปีนี้ คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 11,413 ล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจมาในปี 49 โดยมีอัตรากาขยายตัวเพิ่มจากปีก่อน 2.5% เพราะราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมถึงได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และประชาชนมองว่าเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วจึงพร้อมเดินทางท่องเที่ยว ใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการตามสถานที่จัดงาน
สำหรับที่มาของเงินในการใช้จ่ายช่วงวันลอยกระทงนั้นส่วนใหญ่ 74.1% มาจากเงินเดือนและรายได้ปกติ, 17.4% มากจากส่วนเงินออม ส่วนที่เหลืออีก 7.4% มาจากเงินจากรายได้พิเศษ/โบนัส ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ ที่ประชาชนจะนำเงินเดือนและรายได้ปกติมาใช้จ่ายมากขึ้น ต่างจากปีก่อนที่ผู้ตอบ 72% นำเงินเดือนและรายได้ปกติมาใช้ และอีก 23.4% นำเงินเงินออมมาใช้
"บรรยากาศของเทศกาลในปีนี้น่าจะคึกคักสุดในรอบ 3 ปี เห็นได้จากประชาชนได้วางแผนไปลอยกระทงตามสถานที่ที่มีการจัดงานหรือตามสวนสาธารณะมากขึ้นจากปีก่อน ซึ่งการไปลอยกระทงไกลบ้านจะทำให้เกิดการใช้จ่ายอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีการใช้จ่ายรวม 4,082 ล้านบาท ขยายตัว 3.8% มากสุดรอบ 3 ปี และในต่างจังหวัดมูลค่า 7,425 ล้านบาท ขยายตัว 3.1% มากสุดในรอบ 2 ปี" นายธนวรรธน์ กล่าว
โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันลอยกระทงจากกลุ่มตัวอย่าง 1,208 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-13 พ.ย.