ทั้งนี้ ร้อยละ 56.5 ระบุว่าประเทศไทยมีความพร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 26.4 ระบุว่ามีความพร้อมมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 17.1 ระบุว่ามีความพร้อมน้อยถึงน้อยที่สุด หรือในภาพรวมประเทศไทยมีความพร้อมร้อยละ 62.0
เมื่อถามความเห็นต่อศักยภาพของประเทศไทยว่าอยู่ในระดับใดของประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.5 ระบุว่าอยู่ในระดับกลางๆ รองลงมาร้อยละ 26.6 ระบุว่าอยู่ในระดับต้นๆ และร้อยละ 10.9 ระบุว่าอยู่ระดับท้ายๆ ส่วนประเทศในประชาคมอาเซียนที่คิดว่าเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองมากที่สุดสำหรับประเทศไทย คือประเทศสิงคโปร์ (ร้อยละ45.8) รองลงมา เป็นประเทศเวียดนาม(ร้อยละ41.8) และประเทศมาเลเซีย(ร้อยละ 33.6)
สำหรับอุปสรรคสำคัญทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนมากที่สุด คือความขัดแย้งทางการเมือง (ร้อยละ 61.3) รองลงมาคือการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย (ร้อยละ 55.3) และการทุจริตคอร์รัปชั่น (ร้อยละ 48.1)
เมื่อถามว่าภาครัฐให้ความรู้และสนับสนุนประชาชนให้มีความเข้าใจและตื่นตัวต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพียงใด ร้อยละ 46.5 เห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 30.0 อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด และ ร้อยละ 23.5 อยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด เมื่อถามว่าการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนจะทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทสำคัญและมีอำนาจต่อรองกับประชาคมโลก มากขึ้นใช่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 78.4 ระบุว่า “ใช่" ขณะที่ร้อยละ 10.8 ระบุว่า “ไม่ใช่" ที่เหลือร้อยละ 10.8 ระบุว่า “ ไม่แน่ใจ"
ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนรู้สึกกังวลมากที่สุดเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนคือ ร้อยละ 26.5 กังวลว่าเศรษฐกิจจะแย่กว่าเดิมและไทยอาจเสียเปรียบทางการค้า รองลงมาร้อยละ 17.0 กังวลว่าคนไทยอาจถูกแย่งงานแย่งอาชีพ เพราะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีค่าแรงที่ต่ำกว่า และร้อยละ 16.0 กังวลเรื่องภาษาในการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ด้อยกว่าชาติอื่นๆ
สุดท้าย คนไทยมีความรู้สึกว่าตัวเอง “เป็นประชาชนของอาเซียน" ร้อยละ 61.5
กรุงเทพโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,223 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17 -19 พ.ย. 2558