รมว.พลังงานเผย IEA เชื่อมั่นศักยภาพพลังงานไทย ชูเป็นฐานเชื่อมพันธมิตรเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2015 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การเข้าร่วมประชุม IEA Ministerial Meeting 2015 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะประเทศพันธมิตรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เพื่อหารือร่วมแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาด วางมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 21) ที่กรุงปารีสในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนธันวาคม

ในโอกาสนี้ได้ร่วมพบปะหารือกับนาย Fathi Birol ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานระหว่างกัน เพื่อรองรับปัญหาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทาง IEA ได้ขอบคุณประเทศไทยในการให้การสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน และจะเป็นเป้าหมายหลักในการขยายโครงข่ายความร่วมมือไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกในอนาคต ซึ่ง IEA มีแนวทางการดำเนินงานสำคัญประการหนึ่งคือ การขยายขอบข่ายความร่วมมือด้านพลังงานไปยังประเทศพันธมิตรที่ไม่ใช่สมาชิก เพราะปัจจุบันการใช้พลังงานของประเทศพัฒนาใหม่ (Emerging Economy) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องขยายเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของโลกได้

สาระสำคัญของการประชุมหลักครั้งนี้คือ ประเทศสมาชิก IEA และประเทศพันธมิตรได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการด้านพลังงานก่อนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมปีนี้ โดยกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานไว้ 3 ด้าน 1)การขยายขอบข่ายความร่วมมือด้านพลังงานของ IEA ไปยังประเทศพันธมิตรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก 2) การรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน รับมือสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 3)การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นอนาคตของการพัฒนาพลังงานโลก ให้เกิดความยั่งยืนและเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาภาคพลังงานให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดจากทั่วโลก พร้อมกำหนดมาตรการการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

"ที่ประชุมยังได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยถึงความสำเร็จในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ IEA ที่ให้ความสำคัญเรื่องการยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน เนื่องจากเป็นสาเหตุของการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง และบิดเบือนกลไกของตลาดที่แท้จริง" พลเอกอนันตพร กล่าว

รมมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังได้หารือระดับทวิภาคีกับนาย Tord Lien รมว.พลังงานของประเทศนอร์เวย์ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงาน อาทิ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านระบบสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมที่สำคัญของโลก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาด้านปิโตรเลียมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนอร์เวย์ก็มีประสบการณ์การพัฒนาปิโตรเลียมกับร่วมกับเพื่อนบ้าน เช่น เดนมาร์ค และสหราชอาณาจักร โดยนอร์เวย์พร้อมที่จะให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้กับประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์

ทั้งนี้ ในเดือนเดียวกันนี้ รมว.พลังงานก็เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 6 (The 6th ASIAN Ministerial Energy Roundtable : AMER) ณ กรุงโดฮา นครรัฐกาตาร์ เมื่อวันที่ 8 -10 พ.ย. 2558 โดยเป็นการหารือร่วมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และนำเข้าน้ำมันในทวีปเอเซีย 21 ประเทศ และ 5 องค์กรหลักด้านพลังงานของโลก ได้แก่ OPEC, IEA, IEF, OFID และ OAPEC ภายใต้หัวข้อหลัก “The New Energy Landscape : What Role for Asia?" เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือรับสถานการณ์พลังงานโลก โดยมองว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของโลก ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและความโปร่งใสด้านนโยบายพลังงานของเอเชีย รวมถึงการหารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะจากประเทศต่างๆ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น นอกจากนี้ การจัดประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 ในปี 2560 หรือ 2017 ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ จัดประชุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือกันในประเด็นด้านพลังงานในการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ