นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติ 1,923 โครงการ มูลค่าการลงทุน 693,637 ล้านบาท ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งการเพิ่มรายได้จากการส่งออก 1,033,000 ล้านบาท มีการเพิ่มใช้วัสดุในประเทศ 7.9 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนใน 20 จังหวัด และช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากร ผ่านโครงการต่างๆ 101 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนนักลงทุนลงทุนในประเทศไทยต่อไป และอยากให้เป็นการลงทุนในลักษณะไทยบวกกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งไทยมีความพร้อมในหลายด้านทั้งการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีทรัพยากรที่สำคัญคือ ผลผลิตทางเกษตร
"ผมไม่อยากให้ใครไปลงทุนที่อื่น จะได้ไม่ต้องไปเริ่มใหม่ทั้งหมด ซึ่งผู้นำหลายประเทศ เขาก็ยินดีที่จะอยู่ในประเทศไทย ผมก็ชื่นใจกับคำพูดของเขา แต่จะลงทุนอย่างไรก็ไปว่ากันมา ผมไปบังคับไม่ได้ รัฐบาลจัดหาเงินทุนมาดูแลเอสเอ็มอี ตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท หากคนสนใจก็ลงทะเบียนเข้ามา หาทางเชื่อมต่อสมาคม ซึ่งผมก็จะหาเงินอนุมัติลงไปจนได้ ถ้าเอาเงินแล้วทำให้เกิดรายได้ ผมทำให้ทุกอย่าง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับการเดินหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนใน 10 พื้นที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปีนี้จะเปิดใน 6 พื้นที่ และปีหน้าจะเปิดอีก 4 พื้นที่ ส่งผลต่อการจ้างงานในพื้นที่ เพิ่มการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน และมีการใช้วัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศร่วมกัน และสร้างแหล่งชุมชนใหม่ในชนบท
"สาเหตุที่กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จุดไว้แนวชายแดนเพราะต้องการรองรับธุรกิจที่มีการใช้แรงงานจำนวนมากและยังมีวัตถุดิบจากท้องถิ่นซึ่งมีจำนวนมาก และจะทำให้เกิดการจ้างงานและมีรายได้มีพื้นที่จะเป็นชุมชนขึ้นมาใหม่ชนบทก็เกิดการเติบโต ซึ่งไม่จำเป็นต้องทันสมัยแบบกรุงเทพฯ ซึ่งวันนี้ผมเห็นว่าคนต่างจังหวัดมักจะกระจายกันอยู่เกินไปทำให้การอำนวยความสะดวก ถนนหนทาง การลงทุน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์เป็นภาระทั้งหมด ฉะนั้นถ้าเราจัดพื้นที่ให้ส่วนหนึ่งเป็นที่อาศัยพื้นที่ทำกินก็ทำกินไป ซึ่งรัฐบาลก็จะวางระยะแรกไว้ก่อนจะส่งให้รัฐบาลในวันหน้า รัฐบาลวันนี้จะหามาตรการรักษาความมีเสถียรภาพ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำ นี่คือสิ่งที่ผมให้คำรับรองไว้ อย่าไปคิดว่าผมจะอยู่หรือไม่อยู่ประเทศไทยยังอยู่ท่านก็ต้องอยู่เพราะมิตรประเทศก็เป็นเพื่อนของไทยมายาวนาน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เดินหน้าจัดตั้งคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นการยกระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพและเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภทกิจการ โดยเน้นการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ส่งเสริมด้านนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเน้นการนำวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่มาแปรรูป ซึ่งรัฐบาลได้เตรีมความพร้อมทั้งการให้สิทธิประโยชน์และแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทั้งเรื่องปัญหาที่ดิน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ปรับปรุงเรื่อง one stop service
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการจัดตั้งซุปเปอร์คลัสเตอร์ใน 9 จังหวัด เน้นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เน้นการวิจัยพัฒนา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการแก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงกฏหมายให้เป็นมีความเป็นสากล ซึ่งร่างกฎหมายไปแล้ว 367 ฉบับ ทั้งกฎหมายเรื่องอำนวยความสะดวก การค้าการลงทุน สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น รวมถึงการจัดทำระบบบัญชีเดียว เพื่อรองรับข้อมูลผู้ประกอบการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังฝากให้ผู้ประกอบการเข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศ และอย่ากังวลต่อปัญหาทางการเมือง แต่อยากให้มองว่า สิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นก็เพื่อประชาชนทั่งประเทศ
"ขอให้นักลงทุนในประเทศเข้าใจและขอฝากนักลงทุนต่างประเทศให้เข้าใจสถานการณ์ในไทยด้วย... การเมืองเป็นเรื่องของการเมืองก็ว่ากันไป ยังไงก็ขอให้ดูประเทศไทยว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ถึงแม้ผมจะเป็น คสช.ก็ดูซิว่า กำลังทำอะไรอยู่ผมทำเหมือนที่คนอื่นทำไหมในโลกใบนี้จะดีไม่ดีผมไม่ทราบ แต่ในโลกใบนี้รับรองไม่มีใครทำแบบนี้ ทำเพื่อใครก็ทำเพื่อคนไทยและท่านด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว