สำหรับผลกระทบราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม จากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศไทยเองด้วย ยกเว้นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ได้รับผลกระทบทางลบ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง และ รัฐเซีย เป็นต้น
ขณะที่อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการที่อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ ค่าเชื้อเพลิงและการสูญเสียลดลง นอกจากนี้ เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ที่ใช้การดำเนินงานลดต่ำลงด้วยซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินลง ส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันดีขึ้นในปี 2558 และคาดว่าจะดีต่อเนื่องไปถึงปี 2559
ด้านตัวเลขประมาณการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 58 ช่วง 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.) คาดว่าจะมีกำลังการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง 172 ล้านลิตรต่อวัน(1,128 พันบาร์เรลต่อวัน) หรือคิดเป็นอัตรากำลังการผลิตที่ 92% ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป 142 ล้านลิตรต่อวัน(900 พันบาร์เรลต่อวัน) เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ สำหรับน้ำมันเบนซินมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น 14% น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3% ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวความต้องการใช้ปรับลดลง 10% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 57 ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันโลกที่ต่ำลงมากและจากนโยบายภาครัฐในการปรับราคาน้ำมันทุกประเภทให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง