ขณะที่ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ต.ค.58) การส่งออกขยายตัวลดลง 5.32% มีมูลค่า 180,129 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าขยายตัวลดลง 11.27% มีมูลค่า 170,270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยดุลการค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้เกินดุล 9,859 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ต.ค.ที่ยังปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 นั้น มาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และมีปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือปัญหาการก่อการร้ายที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ ตามมา
โดยการส่งออกเดือนตุลาคม 2558 มีมูลค่า 18,566 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8.11% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งสูงถึง 20,206 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากช่วงต้นปี 57 การส่งออกชะลอตัวจากปัจจัยทางการเมือง และกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 57 ส่งผลให้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 57 การส่งออกมีมูลค่าสูง และเป็นไตรมาสเดียวที่ขยายตัวเป็นบวกที่ 1.58%
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือน ต.ค.58 ลดลง 10.3% ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญอย่างยางพาราจะมีปริมาณส่งออกสูงขึ้น แต่ราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง โดยยางพาราหดตัว 7.6% เช่นเดียวกับ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ที่หดตัวสูงถึง 17.6% 11.4% และ 25.8% ตามลำดับ ขณะที่ผลไม้สด แช่แข็ง และแห้ง น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และไก่แปรรูป ยังคงขยายตัวสูงขึ้น 26.9% 5.4% 6.0% และ 4.6% ตามลำดับ
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลง โดยภาพรวมเดือน ต.ค.58 ลดลง 6.6% โดยสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคือรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัวที่ 0.2% ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้ามากตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำไปจนถึงสิ้นปี
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การค้าโลกรวมทั้งประเทศไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ส่งออกกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่าอัตราหดตัวของมูลค่าส่งออกของไทยยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยสถิติส่งออกล่าสุดถึงเดือน ก.ย.58 เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกติดลบมากกว่าไทย อาทิ ออสเตรเลีย(-21.7%) ฝรั่งเศส(-13.7%) สิงคโปร์(-14.6%) ญี่ปุ่น(-9.3%) เกาหลีใต้(-6.6%) สหรัฐฯ(-6.1%) จากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้ว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก ประเทศไทยยังมีสถานการณ์การส่งออกอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าหลายประเทศ โดยอันดับของไทยสูงขึ้นในทุกตลาดส่งออกสำคัญ สอดคล้องกับส่วนแบ่งตลาดของไทยที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่าแม้ในภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว แต่ไทยยังรักษาความสามารถทางการส่งออกไว้ได้ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(27)
รมว.พาณิชย์ มองว่า แม้การส่งออกของไทยจะยังติดลบ แต่หากมองในด้านของส่วนแบ่งตลาดแล้วจะพบว่าสินค้าจากไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ดีทุกตลาด และยังมีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และฮ่องกง ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในประเทศจีนก็ยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
ดังนั้นจึงเชื่อว่าจากการที่สินค้าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ และกระทรวงพาณิชย์เองที่ยังเดินหน้าในการทำตลาดสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวและกำลังซื้อของประชาชนทั่วโลกเริ่มดีขึ้นนั้น ก็เชื่อว่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 59 สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อย่างแน่นอน
"มูลค่าการส่งออกของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเดือนตุลาคมยังคงลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหดตัวสูง แต่สถานการณ์การส่งออกของไทยยังดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก ในภาวะที่มูลค่าการค้าโลกชะลอตัว โดย IMF คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกของโลกทั้งปี 2558 จะหดตัวถึง 11.17%"
นอกจากนี้ข้อมูลการนำเข้าของตลาดล่าสุดแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด(Market Share) และมีอันดับความสำคัญสูงขึ้นในทุกตลาดสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก อีกทั้งรายได้จากการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทยังคงขยายตัวได้ดีจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลให้ไทยยังคงได้ดุลการค้าสูงอย่างต่อเนื่อง
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ -3% ตามเดิม ซึ่งหากการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้(พ.ย.-ธ.ค.58) สามารถทำได้ที่มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนก็จะทำให้การส่งออกในปีนี้เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ -3%
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะต่อไปได้ คือ การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) กับประเทศต่างๆ, นโยบายของภาครัฐที่หันมาสนับสนุนและพัฒนาการผลิตในประเทศ สนับสนุนภาคบริการ ตลอดจนการสนับสนุนนภาคอุตสาหกรรม