สำหรับสาระสำคัญของร่างข้อบังคับฯ มีดังนี้
1. กำหนดให้กองทุนพัฒนาการยางพารา ประกอบด้วย เงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการจัดเก็บจากบุคคลที่ส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร และบุคคลที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการหรือรายได้จากการดำเนินการของกองทุน และดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
2. กำหนดให้กองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพารา โดยการใช้จ่ายเงินกองทุนให้กระทำอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นหลัก
3. กำหนดให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยจัดสรรเงินจากกองทุนไม่เกินร้อยละสิบ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการของ กยท. ได้แก่ งบทำการ งบลงทุน ค่าใช้จ่ายในการบริหารอื่น ๆ ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของ กยท.
4. กำหนดให้คณะกรรมการฯ จัดสรรเงินจากกองทุนไม่เกินร้อยละสี่สิบ เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกยางพันธุ์ดีหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแทนต้นยางเก่าทั้งหมดหรือบางส่วน
5. กำหนดให้คณะกรรมการฯ จัดสรรเงินจากกองทุนไม่เกินร้อยละสามสิบห้า เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาด และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา
6. กำหนดให้คณะกรรมการฯ จัดสรรเงินจากกองทุนไม่เกินร้อยละห้า เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงิน วิชาการ การศึกษาวิจัย และการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยางพาราในอันที่จะเกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการยางพาราอย่างครบวงจร ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการฯ กำหนด
7. กำหนดให้คณะกรรมการฯ จัดสรรเงินจากกองทุนไม่เกินร้อยละเจ็ด เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวาสวนยาง ได้แก่ จัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จัดสรรให้เป็นเงินกรณีเสียชีวิต และจัดสวัสดิการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
8. กำหนดให้คณะกรรมการฯ จัดสรรเงินจากกองทุนไม่เกินร้อยละสาม เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดประชุมเกษตรกรชาวสวนยาง จัดสรรเป็นรางวัลสร้างแรงจูงใจให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน
9. กำหนดให้จัดสรรเงินจากกองทุนตามหมวด 3 (ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน หมวด 4 (ค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง) หมวด 5 (ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงิน วิชาการ การศึกษาวิจัยและการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยางพารา) หมวด 6 (ค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง) และหมวด 7 (ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง) เพื่อการลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการหรือเข้าทุนกับนิติบุคคลอื่น ในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการยางแห่งประเทศไทย ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางแล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
10. กำหนดวิธีดำเนินการเพื่อจัดสรรเงินจากกองทุน เช่น กรณีที่มิได้จัดสรรเงินจากกองทุนตามจำนวนที่กำหนดไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละประเภทคณะกรรมการฯ อาจจัดสรรเงินในส่วนที่เหลือไปเป็นค่าใช้จ่ายในประเภทอื่นได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น และนำรายได้ตามมาตรา 12 มาจัดสรรเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ เสนอว่า พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 นั้น ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและโอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพันและงบประมาณของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 และขององค์การสวนยาง รวมทั้งของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ไปเป็นของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพารา การวิจัยและพัฒนาการรักษาเสถียรภาพระดับราคายางพารา การดำเนินธุรกิจ และการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง
ดังนั้น เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ กยท. ได้ จึงมีความจำเป็นต้องออกข้อบังคับในเรื่องนี้ เพื่อให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย อนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพาราเป็นค่าใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งในคราวประชุมครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบข้อบังคับในเรื่องนี้แล้ว