โดยหากแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ของการเดินทางท่องเที่ยวอาจจะแบ่งได้ ดังนี้ กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์หลักที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนในประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 40.0 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด รองลงมา คือ กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์จะเที่ยวต่างประเทศ (ร้อยละ 27.3) กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์หลักจะเดินทางกลับไปเที่ยวภูมิลำเนา แวะเยี่ยมญาติ ท่องเที่ยวระหว่างทาง/พื้นที่ใกล้เคียง (ร้อยละ 22.4) กลุ่มที่มีแผนจะเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ (ร้อยละ 8.2) และกลุ่มที่ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยว (ร้อยละ 2.1) สำหรับกลุ่มที่ไม่มีแผนท่องเที่ยวในตอนนี้นั้น ด้วยมีหลากหลายเหตุผล เช่น บางรายยังไม่ได้ตัดสินใจและอาจจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ต้องวางแผนล่วงหน้านาน ส่วนบางรายไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวเพราะอยากจะลดค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เป็นต้น ขณะที่ ปัจจัยที่มีผลต่อแผนการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่าง อันดับ 1 คือ การชักชวนของสมาชิกในครอบครัว รองลงมา ได้แก่ โปรโมชั่นด้านราคาของตั๋วเครื่องบิน/ห้องพัก และการชักชวนจากเพื่อนฝูง รวมถึงการแบ่งปันรูปภาพและเรื่องราวผ่านสื่อต่างๆ เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร) เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจ พบว่า “เชียงใหม่” เป็นปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนท่องเที่ยวในประเทศช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ รองลงมา คือ ภูเก็ตและกระบี่
ขณะที่ หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือได้รับความนิยมอันดับ 1 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ (มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 35.2 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเที่ยวในประเทศทั้งหมด)โดย “เชียงใหม่” เป็นปลายทางยอดนิยมในพื้นที่ภาคเหนือ รองลงมา ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง และน่าน ส่วนภาคใต้มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 22.5 ซึ่งมี“ภูเก็ต” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีแผนจะเดินทางไป รองลงมา คือ กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นๆ (เช่น สตูล สงขลา เป็นต้น) นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างก็มีแผนที่จะเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นๆ เช่นกัน อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก (มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 14.5 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ)
จากการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้รถยนต์เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความคล่องตัวระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจากสามารถปรับแผนการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ลดลง
ขณะที่ รองลงมา คือ การเลือกโดยสารเครื่องบินไปยังแหล่งท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาค ด้วยในปัจจุบันจำนวนผู้เล่นในธุรกิจสายการบินเพิ่มขึ้นและการแข่งขันด้วยโปรโมชั่นด้านราคาก็มีความเข้มข้น ส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินลดลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจครั้งนี้ที่พบว่า ราคาตั๋วเครื่องบินเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการสายการบินใดสายการบินหนึ่ง และเมื่อประกอบกับการจัดรายการส่งเสริมการขายที่มีบ่อยขึ้นทำให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป กล่าวคือ ผู้คนมีการวางแผนการเดินทางล่วงหน้าสั้นลง (ไม่กี่เดือน/สัปดาห์ก่อนการเดินทาง) แตกต่างจากในอดีตที่จองล่วงหน้าเป็นปี ดังจะเห็นได้จากการสำรวจครั้งนี้ที่ตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเที่ยวในประเทศทั้งหมด มีการวางแผนล่วงหน้าประมาณ 1- 2 เดือนก่อนการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างที่เลือกโดยสารเครื่องบิน ส่วนใหญ่เลือกใช้บริการเช่ารถยนต์สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวนั้น ซึ่งแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของธุรกิจสายการบินที่กระตุ้นการซื้อแพ็คเกจตั๋วเครื่องบินและรถเช่าในราคาสุดคุ้ม หรือรถเช่าราคาพิเศษสำหรับลูกค้าบัตรเครดิต ส่วนรูปแบบการเดินทางอื่นๆ ที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้บริการสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คือ ระบบขนส่งสาธารณะ (เช่น รถไฟ รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น) และบริการรถเช่าอาจจะเป็นรถตู้/รถทัวร์สำหรับการเดินทางเป็นหมู่คณะ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2558-2 ตุลาคม 2558 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนกรุงเทพฯ จำนวน 400 คน ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพหลัก ช่วงอายุ และระดับรายได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 จำนวนคนกรุงเทพฯ จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศทั้งระยะใกล้และไกลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 และก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ของไทยมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
โดยการเติบโตของเม็ดเงินการใช้จ่ายนั้นชะลอลงเมื่อเทียบกับประมาณการในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง เห็นได้จากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ขับรถยนต์ท่องเที่ยว ด้วยราคาน้ำมันอย่าง เบนซิน แก๊สโซฮอล์และดีเซลในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 ปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 19.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยว อย่าง ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงแรม ก็มีการจัดรายการส่งเสริมการขายบ่อยขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายในภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีทิศทางชะลอตัว จึงยิ่งทำให้สถานการณ์การแข่งขันทวีความเข้มข้น
สังเกตได้ว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยกลุ่มลูกค้าทั่วไปมีการแข่งขันรุนแรง ซึ่งทำให้มาร์จินที่ผู้ประกอบการได้รับอาจจะไม่สูงนัก ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนที่มีศักยภาพอาจจะมองหาโอกาสไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม (เช่น ลูกค้าระดับไฮเอนด์ ลูกค้าองค์กร/กลุ่มประชุมสัมมนา เป็นต้น) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาที่ส่งผลต่อต้นทุนและสภาพคล่องของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจวางแผนท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาใช้สื่อออนไลน์นี้เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ หรือใช้เป็นช่องทางสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า รวมถึงใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามมาตรการส่งเสริมของภาครัฐที่อาจจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบใช้วางแผนการตลาดล่วงหน้า เช่น การประกาศวันหยุดยาวหลายช่วงในปี 2559 ที่ผู้ประกอบการสามารถจัดทำแคมเปญดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น