ม.เกษตรฯ เผยเกษตรกรไม่เห็นด้วยกับการงดทำนาปรัง-พอใจ 8 มาตรการช่วยภัยแล้งปานกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2015 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่มีต่อมาตรการต่างๆของภาครัฐ โดยทำการศึกษาในพื้นที่ทั้งสิ้น 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี ในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 179 ครัวเรือน พบว่า กรณีความช่วยเหลือจากรัฐบาลในกรณีที่มีการประกาศงดการทำนาปรังในปีที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 83.5 ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 16.5 ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ สำหรับด้านความช่วยเหลือของภาครัฐที่เกษตรกรได้รับมากที่สุด คือ ด้านพืช คิดเป็นร้อยละ 12.8สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ของเกษตรกรในขณะที่หยุดทำนาปรังพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับสภาพ หยุดการทำนาปรัง คิดเป็นร้อยละ 76.3 รองลงมาคือ ปลูกพืชทดแทนและทำอาชีพนอกภาคการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 17.5 และ6.2 ตามลำดับ และเมื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรต่อการประกาศให้หยุดการทำนาปรัง พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่ทางภาครัฐประกาศให้หยุดการทำนาปรังร้อยละ 50.3

ในส่วนความคิดเห็นของเกษตรกรต่อมาตรการช่วยเหลือทั้ง 8 ของภาครัฐ พบว่า เกษตรกรมีความ พึงพอใจโดยรวมกับทั้ง 8 มาตรการในระดับปานกลางโดยภาพรวมมาตรการที่ได้รับความพึงพอใจ 4 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เรื่องการชะลอและขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงินรองลงมา คือส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน (อันดับ 2) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน (อันดับ3) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (อันดับ4)

อย่างไรก็ตาม หากแยกความคิดเห็นของเกษตรกรต่อมาตรการการช่วยเหลือทั้ง 8 ของภาครัฐ พบว่ากลุ่มที่หยุดทำนาปรังและกลุ่มที่ทำนาปรังมีความคิดเห็นค่อนข้างคล้ายคลึงกันในความพึงพอใจ 4 อันดับแรก ต่างกันเพียงกลุ่มที่หยุดทำนาปรังเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชน และเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งหลังจากมีการสอบถามความคิดเห็นของเกษตรกรเรื่องมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลแล้ว จึงได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการย่อยที่ภาครัฐได้จัดทำขึ้นทั้งสิ้น 25 โครงการ/กิจกรรมซึ่ง พบว่า

มาตรการที่ 1 โครงการย่อยที่เกษตรกรต้องการมากที่สุดของเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มคือโครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง โดยกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจโครงการนี้ ร้อยละ 54.6 และกลุ่มทำนาปรัง ร้อยละ 27.8

มาตรการที่ 2 เกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจกับโครงการขยายเวลาชำระหนี้มากที่สุด ร้อยละ 41.2 เนื่องจากให้เหตุผลว่าไม่มีรายได้เมื่อหยุดการทำนาปรัง จึงกังวลว่าหากไม่มีการขยายเวลาชำระหนี้ก็ไม่สามารถหาเงินมาปลดหนี้ได้ และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินมากที่สุด ร้อยละ 25.3 โดยเกษตรกรในกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่ายังไงก็คงทำนาปรังต่อไปเนื่องจากไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร ดังนั้นหากรัฐต้องการช่วยเหลือก็อยากให้ดูแลเรื่องค่าเช่าให้ถูกกว่าเดิม เพื่อเกษตรกรจะได้ลดต้นทุนการผลิต ในส่วนของ

มาตรการที่ 3 เกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจกับโครงการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือมากที่สุด ร้อยละ 42.3 และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการจ้างงานในโครงการของกรมชลประทานมากที่สุด ร้อยละ 43.0

มาตรการที่ 5 พบว่าเกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรังมีความสนใจกับโครงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนกับลูกค้า ธ.ก.ส. มากที่สุด ร้อยละ 38.1 และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการส่งเสริมการปลูกข้าววิธีสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำมากที่สุด ร้อยละ 30.4

มาตรการที่6 เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มสร้างมีความสนใจกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลมากที่สุด โดยกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจโครงการนี้ ร้อยละ 44.3 และกลุ่มทำนาปรัง ร้อยละ 38.0 ตามลำดับ

มาตรการที่7 เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มสร้างมีความสนใจกับโครงการการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับผู้ประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด โดยกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจโครงการนี้ ร้อยละ 55.7 และกลุ่มทำนาปรังร้อยละ46.8เนื่องจากเกษตรกรเหล่านี้เกิดอาการเครียดที่ต้องหยุดการทำนาปรัง รวมถึงบางส่วนยังคงทำและเกิดภาวะขาดทุน

มาตรการที่8 เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มสร้างมีความสนใจกับโครงการระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมากที่สุด โดยกลุ่มหยุดนาปรังมีความสนใจโครงการนี้ร้อยละ 55.7 และกลุ่มทำนาปรังร้อยละ 48.1 เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายไม่ได้รับความช่วยเหลือ และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การช่วยเหลือจะมีข้อจำกัดอยู่กับบุคคลที่มีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้ลงสู่เกษตรกรอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ผลจากการศึกษา ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร มีข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

1. ในการส่งเสริมการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนั้น ควรศึกษาถึงความเหมาะสมของโครงการจ้างงานเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 53.5 ปีดังนั้นโครงการย่อยบางโครงการที่ใช้แรงงานจึงไม่เหมาะสมกับเกษตรกรในกลุ่มนี้

2. ระยะเวลาของโครงการย่อยที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ควรมีความชัดเจนและสอดคล้องกับฤดูกาล เช่น การขุดแหล่งน้ำบาดาลควรทำก่อนที่จะถึงช่วงฤดูแล้ง เพื่อได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจต้องทำก่อนเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น

3. โครงการที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ เสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรในการบริหารจัดการการผลิตเพื่อรองรับผลกระทบจากภัยแล้งการผลิตภายใต้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน และการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (การลดต้นทุนเพิ่มรายได้)

4. การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรถึงความเสี่ยงในการลงทุนการผลิตในช่วงวิกฤตว่ามีโอกาสที่จะขาดทุน

5. ภาครัฐควรมีการจัดลำดับความสำคัญในการคัดเลือกเกษตรกรเป้าหมายในแต่ละโครงการให้เหมาะสมโดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรรายเล็ก

อนึ่ง รัฐบาลได้ออกาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้งทั้งสิ้น 8 มาตรการ 26 กิจกรรม คือ 1) การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3) การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งการจ้างแรงงานชลประทานหรือการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ 4) การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด 6) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติการปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนา แหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7) การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8) การสนับสนุนอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ