KTB-SCC ปล่อยสินเชื่อให้ผู้รับเหมาภาครัฐกระตุ้นยอดสินเชื่อเป็น 3.4 หมื่นลบ.ใน 3 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2015 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย(KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมมือกับ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ในเครือบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) หรือเอสซีจี สนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินงานรับเหมาก่อสร้างหรืองานจัดซื้อ/จัดจ้างของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน โดยให้สินเชื่อระยะสั้นสำหรับซื้อวัสดุก่อสร้างกับเอสซีจี หรือผู้แทนจำหน่ายของเอสซีจี รวมทั้งให้บริการเบิกใช้วงเงินและชำระหนี้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร
การร่วมมือกับเอสซีจีในครั้งนี้ช่วยลดต้นทุนโดยรวมด้านซัพพลายเชน ลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการลูกหนี้ ตลอดจนลดต้นทุนการดำเนินงาน สามารถลดเวลาการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และธนาคารมั่นใจว่าจากการให้บริการด้านซัพพลายเชนแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของบริการด้านซัพพลายเชน โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 12% เป็น 25% และวงเงินสินเชื่อซัพพลายเชนของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเป็น 34,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

“ธนาคารกรุงไทยนับเป็นธนาคารแห่งแรกที่ให้บริการด้านซัพพลายเชนครอบคลุมไปถึงผู้รับเหมาภาครัฐ จากเดิมที่ให้บริการเฉพาะกลุ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้า และกลุ่มผู้ผลิตหรือจัดหาสินค้า นอกจากนี้ จากความพร้อมและความได้เปรียบในเรื่องระบบชำระเงิน และการโอนสิทธิ์ของหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจผ่านระบบของธนาคารกรุงไทยเพียงแห่งเดียว ทำให้ผู้รับเหมาภาครัฐสามารถเบิกใช้วงเงินได้อย่างสะดวกสบายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ได้รับวงเงินกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันต่ำ โดยธนาคารรับภาระค้ำประกันให้กับผู้รับเหมา รวมทั้งผู้รับเหมายังได้รับสินค้าที่มีมาตรฐานจากเอสซีจี"นายทรงพล กล่าว

ด้านนายนิธิ ภัทรโชค ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดในประเทศ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มในการแข่งขันให้กับคู่ธุรกิจ ทั้งผู้แทนจำหน่าย และผู้รับเหมาโดยรวมในซัพพลายเชน ลดความเสี่ยง เสริมสภาพคล่องในการรับงานและต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ส่งผลให้คู่ธุรกิจในซัพพลายเชนเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดีและสอดคล้องกับแผนธุรกิจที่รองรับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ