ส่วนราคาคำนวณเขตอื่นๆ อีก 8 เขต อยู่ที่ 808 บาท/ตันอ้อย ที่ระดับความหวานมาตรฐาน 10 ซีซีเอส หากความหวานเพิ่มหรือลดให้บวกหรือลบ 48.48 บาท/1 หน่วยซีซีเอส/ตัน
"การกำหนดราคาดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และ ยังเป็นการกำหนดราคาเพื่อให้เกษตรกรสามารถรู้ว่าปลูกอ้อยแล้วควรจะขายได้เท่าไหร่ แต่ก็ต้องไปดูฤดูกาลปิดหีบอ้อยช่วงพ.ย.59 ว่าราคาขั้นสุดท้ายอยู่ที่เท่าไหร่ หากราคาขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาขั้นต้น แปลว่าโรงงานอุตสหากรรมซื้อไปในราคาสูง กองทุนอ่อยและน้ำตาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยคืนให้โรงงานอุตสาหกรรม"
ทั้งนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้กำหนดราคาอ้อยไว้ 9 เขตในอัตราไม่ต่ำกว่า 80% ตามต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อคำนวณราคาจะแตกต่างกันตั้งแต่ 777.26-854.33 บาท/ตัน คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาราคาที่ 99.5% ในเขตที่ต่ำสุดได้ที่ 773.37 บาท/ตัน โดยตัวแทนชาวไร่อ้อยได้เสนอว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ 773 บาท/ตันเป็นราคาอ้อยของเขต 5 ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 3.82 แสนตันหรือ 0.35% ของอ้อยทั่วประเทศ หากนำราคาอ้อยต่ำสุดมาประกาศใช้จะทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ได้รับค่าอ้อยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นจึงน่าจะเป็น 2 ราคา
ส่วนกรณีที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเรียกร้องให้ทบทวนมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ที่กำหนดราคาอ้อยและน้ำตาล 2 ราคา เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาการแย่งซื้ออ้อยข้ามเขตจนทำให้กลุ่มผู้ประกอบการแตกสามัคคีนั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า รมว.อุตสาหกรรม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.แล้วว่าการกำหนดราคาที่แตกต่างกันเพียง 20 กว่าบาท/ตันอ้อยไม่คุ้มกับค่าขนส่งข้ามเขต และมีระเบียบห้ามข้ามเขตอยู่แล้ว นอกจากนี้ปริมาณอ้อยในพื้นที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ที่กำหนดราคาไว้ถูกกว่าเขตอื่นก็มีปริมาณราว 3.8 แสนตันอ้อย หรือไม่ถึง 1% ของปริมาณการผลิตอ้อยทั้งหมด