"สถาบันหรือหน่วยงานใดที่มีการโอนเงินแล้วเสร็จสิ้นตามกระบวนการ ต่อมาภายหลังมีคำสั่งศาลว่าพิทักษ์ทรัพย์ หรือรับฟื้นฟูกิจการที่เกิดจากการล้มละลาย สิ่งที่โอนไปแล้วจะเพิกถอนกลับมาไม่ได้ ต้องถือว่าดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
พร้อมกันนี้ให้กระทรวงการคลังยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 เมื่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ....มีดังนี้
1. กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีอำนาจในการจัดตั้งและดำเนินการระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลระบบการชำระเงิน อันได้แก่ กระบวนการในการปฏิบัติงานของระบบ คุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการรับสมาชิก สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ให้บริการและสมาชิกของระบบมาตรการจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ ในระบบมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบการเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชย และการจัดการกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น นอกจากนี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดระบบชำระเงินอื่นใดเป็นระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศได้
2. กำหนดให้การโอนเงิน การชำระดุล หรือการหักบัญชี ผ่านระบบการชำระเงินที่ได้ดำเนินการสำเร็จและมีผลสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ของระบบแล้วไม่สามารถเพิกถอนกลับรายการ สั่งให้แก้ไขได้ หรือหยุดระงับได้ และไม่นำผลของคำสั่งศาลพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลายที่มีผลตั้งแต่ต้นวันมาใช้บังคับกับการดำเนินการดังกล่าวผ่านระบบการชำระเงินก่อนสิ้นวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของสมาชิก รวมทั้งให้มีการคุ้มครองหลักประกันเพื่อการชำระดุลของสมาชิกในระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญด้วย
3. กำหนดหลักการการกำกับดูแลระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับโดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการประกาศกำหนดว่า ระบบการชำระเงินใดบ้างที่จะอยู่ภายใต้การกำกับและเป็นผู้ออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ และให้อำนาจ ธปท. ในการประกาศกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจและหลักเกณฑ์การขอรับอนุณาต ลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้บริหาร และหลักเกณฑ์การเลิกประกอบกิจการหรือหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว
4. กำหนดหลักการการกำกับดูแลบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับโดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการประกาศกำหนดว่า บริการการชำระเงินใดบ้างที่จะอยู่ภายใต้การกำกับและเป็นผู้ออกใบอนุญาตการประกอบการธุรกิจ และให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการประกาศกำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจและหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือหลักเกณฑ์การขอรับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้บริหาร และหลักเกณฑ์การเลิกประกอบกิจการหรือหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองเงินรับล่วงหน้าสำหรับบริการชำระเงินบางประเภทที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินรับล่วงหน้าจากผู้ใช้บริการ
5. กำหนดโทษทางอาญาและโทษทางปกครองไว้ ซึ่งอัตราโทษขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและความร้ายแรงของการกระทำผิดของผู้ให้บริการ
6. กำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของผู้ให้บริการไว้
7. กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนผ่านกฎหมายในระยะแรก โดยกำหนดให้บุคคลที่ได้รับขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ให้ถือว่าเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามร่างพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน รวมถึงผ่อนปรนให้ผู้ประกอบธุรกิจเดิมที่ได้ขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาตไว้ในวันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้ระบบการชำระเงินหรือบริการการชำระเงินใดอยู่ภายใต้การกำกับยังคงประกอบธุรกิจได้ต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ศาลยุติธรรมได้ให้ข้อสังเกตว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แสดงว่าสามารถยักย้ายถ่ายเทได้ คำสั่งศาลไม่สามารถเพิกถอนได้ ซึ่งตรงนี้เป็นมุมมองของศาลยุติธรรมที่เสนอมา
"คณะรัฐมนตรีจึงขอให้กฤษฎีการับเรื่องนี้ไปพิจารณาในรายละเอียด ที่จะตอบสนองต่อเรื่องของการไม่ให้เกิดการรวนในระบบการโอนเงิน แต่ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ได้ หากผู้ที่ถือหุ้นอยู่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะล้มละลาย ก็ให้ตอบโจทย์ทั้งสองอย่าง ให้กฤษฎีการับเรื่องนี้ไปพิจารณา" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว