พาณิชย์ เผยความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต 58/59

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2015 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มี 2 มาตรการ ได้แก่ (1) โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และ (2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก มีความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการ ดังนี้

1. โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก มีการกำหนดแผนการจัดตลาดนัด รวมทั้งสิ้น 47 จังหวัด 127 ครั้ง โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 มีการจัดตลาดนัดแล้วรวมทั้งสิ้น 31 จังหวัด 57 ครั้ง โดยในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีการจัดตลาดนัดไปแล้ว 3 ครั้ง เกษตรกรมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ 969 ราย มีการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 3,219.58 ตัน ราคารับซื้อข้าวหอมมะลิเกี่ยวสดความชื้น 25-30% เกษตรกรขายได้ตันละ 10,200-10,500 บาท (ความชื้น 15% เกษตรกรขายได้ตันละ 12,500-12,800 บาท) สูงกว่าราคาตลาดตันละ 100-200 บาท

2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก คณะอนุกรรมการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติจัดสรรวงเงินชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 301 ราย รวม 43 จังหวัด ในเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 30 ของตันเงินกู้ที่ธนาคารรับรองวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 23,981.33 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้มีมติให้นำเสนอ นบข.พิจารณาวงเงินชดเชยดอกเบี้ยจากวงเงิน 382.50 ล้านบาท เพิ่มเติมอีก 814.50 ล้านบาท เป็น 1,197 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากต้นวงเงินกู้ที่ธนาคารรับรองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสต็อกผู้เข้าร่วมโครงการฯ ครั้งแรก ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2558

สำหรับโครงการที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่ง ธ.ก.ส.จะรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกรชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิ (ชนิดไม่ต่ำกว่า 36 กรัม ความชื้นไม่เกิน 15%) ราคาตันละ 13,500 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 11,300 บาท และข้าวเหนียวคละ ตันละ 10,300 บาท จากการประสานข้อมูลความคืบหน้าเบื้องต้นเมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) มีการทำสัญญาแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และสุรินทร์ เกษตรกร 781 ราย ปริมาณ 5,559 ตัน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ให้กระทรวงการคลังกำกับให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รับผิดชอบและบริหารจัดการความเสี่ยงของโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 โดยไม่ทำสัญญาในลักษณะที่ก่อให้เกิดภาระต่อเกษตรกร โดยมอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์พิจารณากำหนดมาตรการในการชดเชยค่าใช้จ่าย กรณีเกิดภาวะขาดทุนจากการดำเนินโครงการฯ และเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับมาตรการกำกับดูแลรถเกี่ยวข้าวนั้น ในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมากพร้อมกันในช่วงนี้ในบางพื้นที่อาจมีรถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ทางรัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแล อาทิเช่น จังหวัดมหาสารคามได้ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ในท้องที่จัดคิวให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการรถเกี่ยวข้าว โดยการลงทะเบียนกันตามลำดับคิวและมอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยและตำรวจเข้าไปตรวจสอบ คอยอำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนการกำหนดราคากลางจังหวัด เห็นว่า ถ้ามีการกำหนดราคาให้เกษตรกรทุกท้องที่เท่ากันเกษตรกรบางจุดอาจจะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพออย่างเช่นปีที่ผ่านมา จึงกำหนดให้ตกลงราคากันเอง ทั้งนี้จะต้องดูถึงเรื่องความจำเป็นและเหมาะสมในบางพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวข้าว ความยากง่ายไม่เท่ากัน

ราคารถเกี่ยวข้าวในช่วงต้นฤดูตั้งแต่ 450 บาท จนถึงช่วงที่มีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากจะอยู่ที่ 650 บาท ในบางพื้นที่ขออนุญาตตั้งราคารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 700 บาท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความยากในการเก็บเกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับได้ในราคาที่ตกลงกัน หรือในบางรายขออนุญาตเกี่ยวข้าวราคาไร่ละ 800 บาท เนื่องจากเป็นการเกี่ยวข้าวในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งทางทหารและผู้ใหญ่บ้านได้เข้าไปเป็นสักขีพยานเกี่ยวกับการตกลงราคาของเกษตรกรกับเจ้าของรถเกี่ยว

ส่วนสถานการณ์ด้านการผลิตและราคานั้น

1. ด้านการผลิต ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 มีประมาณ 22.010 ล้านตัน แยกเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ 6 ล้านตัน ข้าวเปลือกเหนียว 6.74 ล้านตัน และข้าวเปลือกเจ้า 9.27 ล้านตัน โดยผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 13.417 ล้านตัน หรือร้อยละ 58 และเดือนธันวาคม 2558 มีข้าวเปลือกออกสู่ตลาดประมาณ 5.678 ล้านตัน หรือร้อยละ 26 แยกเป็น ภาคเหนือ 1.088 ล้านตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.835 ล้านตัน และภาคกลาง 0.804 ล้านตัน โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ในช่วงปลายฤดูการผลิตใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว

2. ด้านราคา (ณ 30 พ.ย.58)

  • ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ (ต้นข้าว 36-42 กรัม) ความชื้นไม่เกิน 15% ตันละ 11,500-13,000 บาท และข้าวเปลือกเกี่ยวสดความชื้น 25% ตันละ 9,605-11,050 บาท
  • ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ความชื้นไม่เกิน 15% ตันละ 11,700-13,000 บาท และข้าวเปลือกเกี่ยวสดความชื้น 25% ตันละ 9,945-11,050 บาท
  • ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ตันละ 7,700-8,100 บาท และข้าวเปลือกเกี่ยวสดความชื้น 25% ตันละ 6,545-6,885 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ