ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 มีผู้ยื่นซองเอกสารเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ รวม 15 ราย คณะทำงานตรวจสอบเอกสารหลักฐานได้ประกาศผล ในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 มีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 14 ราย ในจำนวนนี้ได้มายื่นซองเสนอราคา จำนวน 13 ราย ใน 10 คลัง ครบปริมาณ 37,412 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 100 ของปริมาณที่เปิดประมูล) มูลค่าประมาณ 197.804 ล้านบาท โดยผู้ที่เข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่ประกอบอุตสาหกรรมเอทานอล ชีวมวล พลังงาน และปุ๋ย เป็นต้น
ขั้นตอนต่อไป กรมการค้าต่างประเทศจะรวบรวมผลการเสนอซื้อที่มีมูลค่าสูงสุดในแต่ละคลัง เข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ เพื่อนำเสนอประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อพิจารณาตัดสินการเสนอซื้อ และแจ้งผลให้ผู้เสนอราคาซื้อสูงสุดทราบต่อไป
สำหรับการเปิดประมูลข้าวในโครงการรับจำนำในวันที่ 30 พ.ย.58 มีแนวคิดที่จะระบายข้าวที่ผิดไปจากในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรม เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ที่เห็นชอบให้ดำเนินการทดลองการระบายข้าวที่มีคุณภาพผิดไปจากมาตรฐานจากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการประมูลข้าวสู่อุตสาหกรรม มาตรการกำกับดูแล และกลไกภาคปฏิบัติในการควบคุมไม่ให้ข้าวดังกล่าวรั่วไหลสู่วงจรข้าวบริโภคตามปกติเนื่องจากที่ผ่านมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม
ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงได้ทดลองคัดแยกข้าวในสต็อกของรัฐพบว่ามีข้าวดีกับข้าวเสียปะปนกัน ซึ่งพบว่าการคัดแยกมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมากและใช้ระยะเวลานานมากจึงไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ ในขณะที่อีกกระแสหนึ่งได้เร่งรัดให้มีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ให้ตรวจสอบสภาพโกดังข้าวเพื่อหาข้อมูลข้าวในโกดังที่แยกข้าวดีออกจากข้าวเสียได้
ทั้งนี้ ในการระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมนอกจากจะต้องพิจารณาปริมาณและจังหวะที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อวัตถุดิบเดิมที่อุตสาหกรรมนั้นใช้อยู่ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยจะต้องระมัดระวังจังหวะและปริมาณการระบายข้าวในช่วงที่ส่งผลต่อสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักน้อยที่สุด และต้องวางมาตรการกำกับดูแลควบคุมการรั่วไหลของข้าวสู่ตลาดปกติ เพื่อกำกับดูแลให้ข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมทั้งหมด โดยไม่มีการเล็ดลอดออกมาทำลายตลาดและชื่อเสียงของข้าวไทย ในช่วงเดือน พ.ย. ที่ระบายนี้จะมีข้าวโพด และมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมาก จึงกำหนดให้การระบายข้าวช่วงนี้ไม่นำไปเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพราะเกรงว่าจะไปกระทบต่อราคาของข้าวโพดและมันสำปะหลัง กลไกในการควบคุม
กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดมาตรการที่รัดกุม โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมประมูลต้องเป็น นิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ รวมทั้งกำหนดให้การขนย้ายทุกขั้นตอนจะต้องมีหนังสืออนุญาตและปฏิบัติตาม “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การควบคุมการขนย้ายและจัดทำบัญชีคุมข้าวสารในสต็อกของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวมีมติเห็นชอบให้ระบายสู่อุตสาหกรรม ปี 2558" ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 รวมทั้งดำเนินการสุ่มตรวจสอบตั้งแต่การขนย้ายข้าวออกจากคลังสินค้าเพื่อไปสถานที่เก็บ/โรงงาน จนถึงการนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมตามแผนการใช้ตามบัญชี โดยมีหน่วยงานทหารในพื้นที่ภายใต้ คสช. ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลให้การดำเนินการตามนโยบายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เนื่องจากข้าวไม่ผ่านมาตรฐานเกรด C ข้าวผิดไปจากมาตรฐานและข้าวผิดชนิด อคส. และ อ.ต.ก. ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบแล้ว โดยได้มีการดำเนินการมาเป็นลำดับมีขั้นตอนและกระบวนการที่ชัดเจน ในกรณีที่มีผู้ข้อโต้แย้งการแจ้งความดำเนินคดีจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่อไป
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ไม่ได้กำหนดราคาข้าวเสียที่จะขาย เพราะไม่มีราคาอ้างอิงมาก่อน ต้องนำราคาที่ผู้ประมูลเสนอไปเทียบเคียงกับราคาข้าวสารในสต๊อกที่เคยขายได้ และราคาวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่เป็นประจำ ถ้าต่ำกว่าราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ อาจกระทบกับผลผลิตข้าวโพด และมันสำปะหลังที่กำลังจะออกสู่ตลาดได้
ส่วนกรณีที่สมาคมเซอร์เวเยอร์ และเจ้าของโกดังกลางที่รัฐฝากเก็บข้าวสาร ร้องเรียนว่าข้าวเน่าที่รัฐบาลเปิดประมูลครั้งนี้ ไม่ได้เน่าเสียจริง กระทรวงพาณิชย์ไม่น่านำมาขายในราคาต่ำนั้น น.ส.ชุติมา กล่าวว่า การนำข้าวเสียมาเปิดประมูลให้ภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้ทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะในการตรวจสอบข้าวคุณภาพ และปริมาณข้าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย.58 โดยแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงต่างๆ 100 คน เป็นหัวหน้าทีม 100 ทีมออกไปตรวจสอบข้าวทั่วประเทศ มีการเก็บตัวอย่างไปตรวจ และจัดทำบัญชีอย่างชัดเจน มีมาตรฐานในการตรวจสอบว่าเป็นข้าวคุณภาพดีหรือไม่ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม รวมถึงบริษัทตรวจสอบสินค้าเกษตร (เซอร์เวเยอร์) และเจ้าของโกดัง โดยข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ ข้าวเน่า ข้าวเสีย กระทรวงฯได้ส่งตำรวจดำเนินคดี เมื่อตำรวจทำสำนวนเสร็จแล้วก็นำข้าวมาเปิดประมูล ล่าสุดอยู่ระหว่างส่งอัยการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเซอร์เวเยอร์และเจ้าของโกดัง ซึ่งทุกขั้นตอนตรวจสอบได้ทั้งหมด ถ้าใครเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ไปต่อสู่กันในชั้นศาล
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับการเปิดประมูลข้าวเสียรอบต่อไปนั้น ขอดูผลการประมูลรอบนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะจะต้องมีการเปิดระบายเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลในการต้องเสียค่าฝากเก็บเดือนละกว่า 30 ล้านบาท ส่วนข้าวคุณภาพดี ทั้งเกรด P เกรด A และเกรด B จะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปอีกครั้งในเดือนมี.ค.59 โดยต้องรอให้ข้าวในท้องตลาดหมดก่อน ไม่อยากให้กระทบกับราคาข้าวของเกษตรกร แต่อาจจะเปิดประมูลเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อการส่งออกเท่านั้น ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่