นอกจากนี้ กกร. จะเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อน กรอ. จังหวัด เนื่องด้วยในทางปฏิบัติ กรอ. จังหวัด จะมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนความต้องการของพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดจึงมีความสำคัญและควรมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทั้งนี้ กกร. เล็งเห็นว่า กรอ.จังหวัด จะเป็นกลไกการดำเนินงานระดับภูมิภาค ในการสื่อสารนโยบาย แนวทาง และมาตรการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไปยังจังหวัดและหน่วยงานในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ดังนั้น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนระดับจังหวัด จะเข้าไปมีบทบาทขับเคลื่อนการทำงานของ กรอ.จังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ อย่างยั่งยืนต่อไป
กกร. ยังคงติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) อย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนงาน5 ด้านซึ่ง กกร. ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ คือ การจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การชำระภาษี การนำเข้า-ส่งออก การท่องเที่ยว & Visa Work Permit และรวมถึงประเด็นปัญหา “เรื่องผังเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคในการขยายโรงงานและการประกอบกิจการ"
ดังนั้น กกร. จึง แต่งตั้ง“คณะทำงานศึกษาประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนวทางการพัฒนาผังเมืองเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการนำเสนอภาครัฐ โดยมีผู้แทนจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นคณะทำงานฯ และ มีขอบข่ายการศึกษา ดังนี้
ศึกษาปัญหา อุปสรรคและความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากบังคับใช้ผังเมือง ทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาว รวมทั้ง การพัฒนางานด้านการผังเมืองอย่างยั่งยืนของประเทศ
ศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย การบูรณาการและการตีความกฎหมายของส่วนราชการ ตาม พระราชบัญญัติผังเมือง 2518,2535 และ 2558 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง ศึกษา ร่าง พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ.... (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)