เลขาศบปพ.คาดใช้ 4-5 เดือนปลดล็อคกรณี FAA,มองสัญญาณบวก EASA ประกาศผล 10 ธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2015 09:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข เลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 เดือนในการแก้ไขปัญหาที่ สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) ปรับลดมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย ลงสู่ระดับ Category 2 (CAT 2) จากระดับ Category 1 (CAT1) ขณะที่ยังมองสัญญาณบวกกรณีที่สำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA) จะประกาศผลการตรวจสอบในวันที่ 10 ธ.ค.นี้

พล.อ.อ.ปรีชา กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว FAA เคยจัดอันดับให้ไทยอยู่ระดับ Category 2 ก่อนที่จะใช้เวลาปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในระยะเวลา 4-5 เดือนก่อนจะกลับเข้ามาสู่ระดับ Category 1 อย่างไรก็ตามการถูก FAA ปรับลดมาตรฐานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบินของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากไทยจะไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินไปยังสหรัฐฯได้ แต่ในประเด็นนี้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่อาจจะได้รับผลกระทบมากในส่วนของสายการบินที่จดทะเบียนในไทยจะไม่สามารถทำ Codeshare กับสายการบินสหรัฐฯได้

สำหรับกรณีของ EASA ที่จะสรุปผลการตรวจสอบในวันที่ 10 ธ.ค.นี้นั้น มองเป็นสัญญาณบวก หลังจากที่ทางการไทยได้เดินทางไปชี้แจงกับทาง EASA พร้อมกับประเทศอื่นหลายประเทศ และทาง EASA ไม่มีปัญหาเพิ่มเติมใดๆกับการชี้แจงของไทย ทำให้เชื่อว่า EASA ไม่ได้เอามาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ FAA มาเป็นหลักในการพิจารณา เพราะ EASA มีมาตรฐานของตัวเองอยู่แล้ว โดยเชื่อว่า EASA จะพิจารณาความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของไทยหลังเกิดกรณีของ ICAO ว่าไทยมีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งจากช่วงเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ไทยมีความคืบหน้าที่สำคัญ คือการจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน ซึ่งแยกออกจากกรมการบินพลเรือน โดยโครงสร้างใหม่มีการแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรในการตรวจสอบมาตรฐานการบินได้ดีขึ้น เพราะมีโครงสร้างเงินเดือนที่เป็นรูปแบบแตกต่างจากระบบราชการทั่วไป

นอกจากนั้น ในระหว่างที่มีการแก้ปัญหาอยู่ ได้ดึงผู้เชี่ยวชาญมาตรฐานการบินจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพอากาศ ที่ได้ส่งนักบินมาช่วย 20 คนแล้ว ซึ่งเป็นแก้ปัญหาระยะสั้นด้านบุคคลากรก่อน รวมทั้งของความร่วมมือจากสายการบินของไทย ทั้งการบินไทย นกแอร์ ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยแก้ปัญหาก่อน แล้วจะสรรหาบุคลากรของสถาบันการบินพลเรือนที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ถูกดึงมาตอนนี้กรณีของนักบินถือเป็นการช่วยราชการ แต่ถ้านักบินอยากจะลาออกจากหน่วยงานเดิมมาอยู่สถาบันการบินพลเรือนก็สามารถทำได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ