ในด้านของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทยที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงนาม MOU ระหว่างสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย กับ ฟูกูโอกะ ครีเอทีฟ แอสโซซิเอชั่น (เอฟซีซีเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของภาคธุรกิจและภาคการศึกษาในด้านแอนิเมชั่นของเมืองฟูกูโอกะ เพื่อร่วมกันส่งเสริมอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่าย ซึ่งจะมีการร่วมผลิต (Co - Production) การ์ตูนคาแร็กเตอร์หรือมาสค็อตสัญชาติไทย-ญี่ปุ่น นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองฟูกูโอกะต่อไป
นายนิธิพัฒน์ สมสมาน นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนาม MOU ครั้งนี้ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทยในปีนี้ จะขยายตัวมากถึงร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมกว่า 7,000 ล้านบาท ในส่วนนี้คิดเป็นการส่งออกถึง 800-900 ล้านบาท ปัจจุบันยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่กำลังรวมตัวกันเพื่อสร้างเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ดิจิทัลคอนเทนท์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต
ในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ นายสมคิดได้นำคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ 5 กระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี และผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนนักธุรกิจรายสำคัญของประเทศ 28 ราย อาทิ ซีพี ไทยเบฟเวอเรจ ไทยยูเนี่ยน ไทยซัมมิท เบทาโกร พีทีที สหพัฒนพิบูลย์ เยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่น
ขณะที่ทางญี่ปุ่นได้แสดงท่าทียืนยันเชิงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยมีความสำคัญสูงยิ่ง โดยนายกรัฐมนตรี นายชินโสะ อาเบะ ให้การต้อนรับพร้อมด้วย รองนายกรัฐมนตรี นายทาโร อะโซ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายโยชิฮิเดะ ซูกะ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจหลัก 6 กระทรวงที่ควบคุมด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การคมนาคม การท่องเที่ยว เทคโนโลยี แรงงาน สาธารณสุข การศึกษา ตลอดจนการเกษตร ป่าไม้ และประมง
สำหรับญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยรองจากจีน มูลค่าการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม – ตุลาคม) ของปี 2558 รวมทั้งสิ้น 43,227.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 26,363.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 16,864.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกไทยไปยังญี่ปุ่นอันดับต้น ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และอาหารทะเลกระป๋องแปรรูป