ในส่วนของ ธปท.เอง ก็มีการดำเนินการเช่นเดียวกับธนาคารกลางหลายแห่งที่มองเห็นแนวโน้มความสำคัญของเงินหยวนที่จะมีมากขึ้นในอนาคต จึงได้เตรียมพร้อมมาระยะหนึ่งแล้วในการเปิดสำนักงานผู้แทน ธปท.ในกรุงปักกิ่ง รวมทั้งมีการลงทุนในตราสารที่เป็นเงินหยวน เพื่อที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจพัฒนาการของทิศทางของตลาดเงิน โดยมองว่าในระยะต่อไปธนาคารกลางและกองทุนต่างๆ คงจะมีความสนใจและเพิ่มการลงทุนในสกุลเงินหยวนมากขึ้น
“เดิมเงินหยวนยังไม่ได้ยอมรับอยู่ในตะกร้า SDRs ทำให้ยังมีความกังวลในเรื่องความสามารถในการแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะทำให้เงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศได้ไม่เต็มที่นัก แต่วันนี้พอ IMF ยอมรับ ก็จะทำให้เรานับเงินลงทุนบางส่วนที่เป็นเงินหยวนอยู่ในวันนี้ให้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้ตามนิยามสากล" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
ส่วนจะมีการปรับสัดส่วนหรือเพิ่มสกุลเงินหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยให้มากขึ้นหรือไม่นั้น นายวิรไท กล่าวว่า การบริหารเงินทุนสำรองของประเทศจะต้องพิจารณาหลายปัจจัย ไม่ใช่มองเพียงแค่เรื่องของสภาพคล่องเท่านั้น แต่จะต้องมองถึงเรื่องอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ ตลอดจนความเสี่ยง และพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่เงินหยวนเข้าตะกร้าเงิน SDRs จะทำให้เห็นพัฒนาการของตลาดตราสารทางการเงินที่เป็นเงินหยวนได้มากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และมีสภาพคล่องมากขึ้น เพราะมีผู้เล่นที่เข้ามาลงทุนที่เป็นเงินสกุลหยวนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้จะได้เห็นการลงทุนทางตรงจากนักลงทุนจีนเข้ามาได้อย่างสะดวกมากขึ้นด้วย
“จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนจากจีนเข้ามาได้สะดวกขึ้น เพราะถ้าดูตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ BOI จะพบว่านักลงทุนจีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้น มีสัดส่วนมากขึ้น รวมทั้งการที่ทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่สามารถแลกเปลี่ยนได้เสรีมากขึ้น ก็แสดงว่าจีนยอมเปิดให้นักลงทุนเอาเงินออกได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับการที่เราจะส่งเสริมให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น" ผู้ว่าฯธปท.ระบุ
นายวิรไท กล่าวว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินคงไม่ได้ทำเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านใดด้านหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่จะพิจารณาจากสภาพคล่องของระบบการเงิน เสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่ามีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินค่อนข้างมาก และเชื่อว่าเพียงพอที่จะใช้สนับสนุนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลได้อยู่แล้ว
พร้อมกันนี้มองว่าในการทำนโยบายการเงินจะต้องพิจารณาเสถียรภาพด้านต่างๆ ประกอบกัน ซึ่งปัจจุบันเสถียรภาพด้านราคาไม่ได้เป็นปัญหา อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มกลับเป็นบวกได้ในต้นปีหน้า จากในปีนี้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งจากราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ ธปท.ไม่ต้องกังวลมาก