นายสุรชัย ยืนยันว่าหากมียอดอนุมัติสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าวใกล้ถึงกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาทแล้ว คณะกรรมการธนาคารพร้อมประชุมในช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินของมาตรการอีก 10,000 ล้านบาทได้ทันที
2. โครงการบ้านประชารัฐ โดยการให้ ธอส. เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเคหะแห่งชาติและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
สำหนับนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างการเคหะแห่งชาติและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการสร้างที่อยู่อาศัยตามโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 2.7 ล้านยูนิต โดย ธอส. จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องของสินเชื่อสำหรับผู้อยู่อาศัย และอาจมีความเป็นไปได้ว่าต้องดึงธนาคารออมสินเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย โดยโครงการนี้จะทยอยดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งคาดว่าหากมีความชัดเจนล็อตแรกจะดำเนินการได้ราว 6-7 หมื่นยูนิต เฉลี่ยยูนิตละไม่เกิน 6 แสนบาท
“โครงการบ้านประชารัฐในช่วงแรก ๆ ธอส. จะดำเนินการเอง เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่เยอะมาก ธนาคารมีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการได้ แต่ขณะนี้ทุกส่วนยังไม่ได้มีความชัดเจนมากนัก เพราะอยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการ โดยเฉพาะการคัดเลือกที่ดินที่มีความเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนทั้งหมดในระยะต่อไป” นายสุรชัย กล่าว
3.สนับสนุนการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ(E-Payment) ซึ่งถือเป็นนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งบัตรเดบิตการ์ด เครดิตการ์ด โดยปัจจุบัน ธอส. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดทำบัตรเดบิต รวมถึงบัตรเครดิต ซึ่งอาจดำเนินการได้ผ่านการร่วมกับสถาบันการเงินแห่งอื่น และ
4.โครงการให้ความรู้กับประชาชนที่ต้องการมีบ้าน โดยการส่งเจ้าหน้าที่ของ ธอส. ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยและการออมไปเปิดคลินิกให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้ทราบถึงวิธีที่จะทำให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น และโครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ด้านที่อยู่อาศัยของธนาคารอีกด้วย
“ปัจจุบัน ธอส. ถือเป็นสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งมาก เห็นได้จากตัวเลขผลการดำเนินงาน ล่าสุด ธนาคารยังคงรักษาความสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ทำได้ทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาท คิดเป็น 91% ของเป้าหมายในปีนี้ซึ่งกำหนดไว้ที่ 149,800 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 840,507 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งมากที่ 15.46% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 8.50% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และจากความแข็งแกร่งเหล่านี้ จึงเชื่อว่า ธอส. มีความพร้อมสูงในการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมปิดช่องว่างของกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้อย่างแน่นอน"นายสุรชัย กล่าว
นายสุรชัย กล่าวถึงภาพรวมการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 4 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยทั้งปีคาดว่าสินเชื่อปล่อยใหม่จะขยายตัวจากปีก่อนอย่างน้อย 5% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 5.51% นั้น ธนาคารอยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้หนี้เสียในส่วนนี้ภายในสิ้นปีจะทรงตัวอยู่ในกรอบ 5.5%
สำหรับภาพรวมกำไรในช่วง 10 เดือนของปี 58 อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท โดยคาดว่าภายในสิ้นปีกำไรจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8.8 พันล้านบาท โดยในปี 2559 คาดว่ากำไรจะเติบโตเพิ่มขึ้นแตะ 9 พันล้านบาท ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่ น่าจะขยายตัวได้ที่ 1.57 แสนล้านบาท หรือเติบโต 5%
“ปีนี้ความต้องการสินเชื่อในภูมิภาคมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการรัฐในการสนับสนุนชุมชนเมือง การดำเนินโครงการพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการขยายการลงทุนไปในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารในภาพรวม และสินเชื่อตามมาตรการของรัฐเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยจากสัดส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ในปัจจุบันที่ 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อต่างจังหวัดถึง 8.5 พันล้านบาท” นายสุรชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี ตลาดสินเชื่อในต่างจังหวัดแบ่งตามภูมิภาคที่เติบโตสูงที่สุด ได้แก่ ภาคใต้และภาคตะวันตก, ภาคตะวันออกและภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เป็นลำดับ
สำหรับการสรรหากรรมการผู้จัดการธนาคาร ธอส. คนใหม่นั้น อยู่ระหว่างกระบวนการ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้แน่นอน
ด้านนางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผยว่ามาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางล่าสุด ณ วันที่ 1 ธ.ค.58 มีจำนวนผู้แสดงความประสงค์ยื่นคำขอกู้เป็นจำนวนเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกค้าที่ยื่นเอกสารครบถ้วนและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารแล้วเป็นวงเงินกู้ถึง 9,971 ล้านบาท 6,741 ราย ได้รับการอนุมัติเงินกู้แล้ว 5,270 ล้านบาท 3,654 ราย และคาดว่าธนาคารจะสามารถอนุมัติเงินกู้ถึง 10,000 ล้านบาทตามกรอบวงเงินของโครงการระยะแรกได้ภายในกลางเดือน ธ.ค.
“หากธนาคารอนุมัติวงเงินกู้ครบกรอบวงวงเงิน 10,000 ล้านบาทแล้ว แต่ ธอส.ยังคงเปิดรับคำขอกู้ตามโครงการดังกล่าวได้ต่อไป และพร้อมเสนอให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาขยายกรอบวงเงินของมาตรการเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาททันที เนื่องจากยังมีผู้ประสงค์ยื่นคำขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะภายหลังจาก ครม. ได้มีมติให้ ธอส. จัดทำมาตรการสินเชื่อดังกล่าว พร้อมกับการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าธรรมเนียมการจดจำนอง รวมถึงมาตรการทางภาษี ได้ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดความคึกคัก บรรดาผู้ประกอบการต่างจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมากมาย ซึ่งล้วนทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่มีวินัยการเงินดีต่างได้รับประโยชน์ เพราะสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลได้อีกด้วย"นางไลวรรณกล่าว
นอกจากนี้ ธอส.ร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) จัดงาน “ธอส. มหกรรมที่อยู่อาศัย-สินเชื่อเพื่อประชาชน" ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดชลบุรี เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึง “มาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง" ได้สะดวกยิ่งขึ้น