(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.ที่ 74.6 ดีขึ้นต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2015 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย.58 อยู่ที่ระดับ 74.6

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.8

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 11 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 58 เติบโต 2.9% ถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ปี 59 คาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% จากผลของการเร่งการใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐ ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังคาดการณ์ว่า GDP ปีนี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้เกิน 3% จากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้น พร้อมคาดว่า GDP ในปี 59 จะขยายตัวได้ 3.8% เป็นผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เม็ดเงินจะเริ่มเข้าสู่ระบบมากขึ้น , ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ เหตุก่อการร้ายในฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจจกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค.58 ที่ยังปรับตัวลดลงถึง -8.11%, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ รวมถึงภาวะภัยแล้งยังเกิดขึ้น, เงินบาทที่ยังอ่อนค่า และผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในช่วงนี้ เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แต่น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี หลังจากเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่าการบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 4 นี้ไป และจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงกลางไตรมาสแรกของปีหน้า

นายธนวรรธน์ ย้ำว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดที่อยู่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้มาแล้ว โดยนับตั้งแต่นี้ไปน่าจะเป็นจุดที่บ่งบอกถึงการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางการเมืองเดือนพ.ย.58 ปรับตัวดีสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งทำให้เห็นว่าประชาชนมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มนิ่งแล้ว และประกอบกับการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ออกมาอีกในช่วงต้นปีหน้า จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

“คนที่เคยกังวลเรื่องการเมือง ก็เริ่มมองว่าการเมืองเริ่มนิ่งมากขึ้น และดัชนีจะวิ่งเข้าแตะระดับ 100 ซึ่งเป็นระดับปกติที่เคยเกิดในเดือนธ.ค.ปีก่อน การที่สถานการณ์การเมืองเริ่มนิ่ง ย่อมทำให้คนมั่นใจนโยบายของรัฐที่ตอนนี้รองนายกฯ สมคิด และรมว.คมนาคม ออกมาบอกว่าจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในเดือนม.ค. จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าการเมืองที่นิ่ง นโยบายรัฐที่ออกมาน่าจะเป็นรูปธรรมและเร็ว ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมคาดว่า เศรษฐกิจโดยรวมแม้ยังไม่เด่น แต่มีสัญญาณการฟื้นตัว โดยในช่วงกลางไตรมาสแรกของปี 59 หรือราวเดือนก.พ.จะเริ่มเห็นกำลังซื้อของประชาชนกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากผลสำรวจของหอการค้าแต่ละจังหวัดทั่วประเทศที่มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยเศรษฐกิจภายในพื้นที่จะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 2/59 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาส 3/59 แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าที่ต้องระวังคือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการในการจ้างงานในพื้นที่ผ่านโครงการลงทุนขนาดเล็ก และมีการจัดซื้อวัตถุดิบรวมถึงจ้างงานในพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดทอนความสูญเสียจากที่ชาวนาบางส่วนไม่สามารถทำนาปรังได้

“เรายืนยันว่าความเชื่อมั่นฯ เป็นขาขึ้น ความมั่นใจของภาคธุรกิจที่คิดว่าเม็ดเงินน่าจะลงไปแล้ว และจะเคลื่อนเศรษฐกิจได้ การลงทุนของภาครัฐที่น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ปีหน้าจะช่วยเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าได้" นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้จะขยายตัวได้ 3.3% เป็นอย่างน้อย ภายใต้เม็ดเงินที่คาดว่าภาครัฐจะเร่งขับเคลื่อนได้ราว 50,000 ล้านบาทในช่วงเดือนธ.ค.ของปีนี้ และหากอัดฉีดเม็ดเงินได้มากกว่านี้ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 สามารถโตได้ถึง 3.6% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 3% ขณะที่คาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ราว 3.5-4%

นายธนวรรธน์ ประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะใช้มาตรการ QE เพิ่มเติม รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เงินหยวนในปีหน้าคงจะไม่อ่อนค่าลงได้มากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียน เนื่องจากได้เข้าสู่ตะกร้าเงิน SDR ตามการประกาศล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ซึ่งการที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์ จะช่วยส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยในระยะจากนี้ไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ