นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม ERS ให้ความเห็นว่า เรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้น ได้มีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์กันในหลายเวทีแล้ว ทั้งในเวทีเปิดแบบสาธารณะและเวทีปิดแบบวิชาการ โดยมีตัวแทนฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมให้ความเห็นอย่างกว้างขวางและครบถ้วนแล้ว อาทิ นักวิชาการ ผู้เชียวชาญ นักกฎหมาย ผู้ประกอบการ ภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยกลุ่ม ERS เชื่อว่ากระทรวงพลังงานได้ใช้ดุลพินิจอย่างถี่ถ้วน และได้ประมวลความคิดเห็นที่หลากหลายเหล่านั้นขึ้นเป็นความเห็นของกระทรวงพลังงานนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อตัดสินใจในขั้นสุดท้ายต่อไป
กระบวนการทำงานของฝ่ายบริหารดังกล่าวย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็นที่ประมวลได้มาจากหลายฝ่าย ซึ่งเป็นสิทธิในการดำเนินการภายใต้ดุลพินิจของฝ่ายบริหาร หากฝายใดไม่เห็นด้วย และได้แสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยนั้นให้ทางฝ่ายบริหารได้รับทราบ และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกันในระดับหนึ่งแล้ว แต่ฝ่ายบริหารยังคงยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป ฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วยย่อมสมควรยุติการกระทำที่เป็นการกดดันฝ่ายบริหารและหันไปใช้มาตรการทางนิติบัญญัติหรือกระบวนการยุติธรรมในการคัดค้านต่อไป
นายมนูญ กล่าวอีกว่า กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน และยืนยันที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานอย่างถูกต้อง สู่สาธารณชน เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำว่าสมาชิกของกลุ่ม ERS เป็นการรวมตัวของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน เป็นผู้มีประสบการณ์จริงในแวดวงพลังงานที่มีความปรารถนาจะเห็นการปฏิรูปพลังงานในประเทศไทยดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม ERS กล่าวถึงระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยว่า กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มส่งเสริมให้มีการลงทุนสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ จนมีการค้นพบและนำไปสู่การผลิตปิโตรเลียม รองรับความต้องการใช้พลังงานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการค้นพบแหล่งพลังงานในประเทศดังกล่าว ทำให้ไทยสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ จากเดิมร้อยละ 90 จนเหลือร้อยละ 57 ในปัจจุบัน การบริหารและการจัดการปิโตรเลียมที่ดี จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าสูงสุด ก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ด้าน
ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน รัฐมีรายได้โดยตรง และประโยชน์ทางอ้อม อาทิ เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในท้องถิ่น โดยของไทยเป็นลักษณะแบ่งแยกหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นผู้ให้สิทธิในการสำรวจและผลิตและเป็นผู้กำกับดูแล และแยกหน่วยงานที่รับผิดชอบในการลงทุนและดำเนินการออกจากผู้กำกับดูแล ซึ่งเป็นนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่สอดคล้องกับแนวโน้มของหลายประเทศได้ปรับมาใช้ เช่น อินโดนีเซีย เม็กซิโก แอลจีเรีย และอินเดีย เป็นต้น
แนวทางการบริหารจัดการปิโตรเลียมข้างต้น มีความโปร่งใส ลดช่องทางการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น ลดการแทรกแซง สร้างความคล่องตัวในการบริหารกิจการ และมีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและเชื่อถือ คือ เศรษฐกิจเสรีภายใต้กลไกตลาดที่มีการกำกับดูแลแต่มีการแทรกแซงน้อยที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์รายได้จากทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน
นายศิริ ระบุว่า ระบบสัมปทานในประเทศไทยที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจฯ ทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท และรัฐมีรายได้ทางตรงกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของงบประมาณแผ่นดินที่นำไปพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ ยังไม่นับรายได้จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้
ด้านนายพรายพล กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความสำเร็จดังกล่าวคือการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในระบบสัมปทานที่มีการปรับปรุงมาโดยตลอด โดยมุ่งสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนเพื่อสำรวจและผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็รักษาผลประโยชน์ของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย ดังนั้น สำหรับระบบการบริหารจัดการที่ทำงานมาค่อนข้างดีอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงจึงควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ ปรับปรุงเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา และคงไว้ซึ่งองค์ประกอบที่เป็นส่วนดี
นายพรายพล ยังได้แสดงความเห็นถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของข้อเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการปิโตรเลียม จาก 4 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงพลังงาน เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) คณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในประเด็นหลักสำคัญ อาทิ ประเด็นการแบ่งปันผลผลิตและการจ้างผลิตที่ควรมีการศึกษาเพื่อเลือกระบบที่เหมาะกับกรณีของไทยก่อนนำมาใช้จริง ประเด็นการกำกับกิจการปิโตรเลียมที่เสนอให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการปิโตรเลียม จึงไม่มีความจำเป็นต้องตั้งองค์กรใหม่นี้
ประเด็นการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติถือกรรมสิทธิ์ในแปลงปิโตรเลียมแทนรัฐแต่เพียงผู้เดียว จะเป็นการเปิดช่องทางของการทุจริต แทรกแซง ขาดธรรมาภิบาล ประเด็นค่าภาคหลวงที่ไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจน อาจทำให้ผู้ลงทุนไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็ก ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในกรณีของแหล่งขนาดใหญ่ รวมถึง ประเด็นอื่นๆ ที่ส่งผลให้ประเทศเสียประโยชน์ เอื้อต่อการเกิดทุจริตได้