ไทย-จีน ลงนาม Framework รถไฟทางคู่ แต่ยังรอสรุปตัวเลขลงทุน-ดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2015 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเย็นวันนี้จะมีการลงนามร่วมไทย-จีน เพื่อรับรองการประชุมโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร(Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ครั้งที่ 9 และลงนามในกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Corperation :FOC ) และลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน กรณีการจัดซื้อสินค้าการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ภายใต้กรอบการขายแบบรัฐต่อรัฐ

นอกจากนี้ คณะทำงานร่วมไทย-จีน จะเดินทางลงพื้นที่ไปสถานีเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี จุดโครงการศูนย์สั่งการการเดินรถ(OCC) ซึ่งจะมีพิธีเปิดตัวโครงการในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งจีนได้ขอข้อมูลของพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อไปออกแบบ OCC

รมว.คมนาคม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 9 ว่า ได้มีการหารือถึงการทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ข้อมูลยังไม่ครบ โดยได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ตรวจสอบข้อมูลที่ฝ่ายจีนจัดส่งมา รวมถึงข้อมูลต้นทุนโครงการอย่างละเอียด ซึ่งขณะนี้ตัวเลขการลงทุนโครงการยังไม่นิ่ง จึงยังไม่มีการสรุปใดๆ เพราะต้องตรวจสอบให้ชัดเจน และสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขสูงถึง 5 แสนล้านบาทมาจาก การเพิ่มสถานี เช่น สถานีชุมทางบ้านภาชี ซึ่งเดิมอยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่ได้ปรับมาอยู่ในโครงการรถไฟไทย-จีน

นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีการคิดต้นทุนโครงการของจีน การคำนวนค่าก่อสร้าง ซึ่งไทยจะต้องนำแบบที่จีนศึกษาไว้มาถอดเป็นรายตัว ตามวิธีคิดและระบบราคากลางของไทย ซึ่งหากประเมินตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ราคาน้ำมันที่ลดลงเหลือ 50 กว่าดอลลาร์/บาร์เรล เชื่อว่าต้นทุนน่าจะลดลง

ส่วนอัตราดอกเบี้ย จุดยืนทางจีน 2.5% แต่ทางกระทรวงการคลังมีข้อมูลอัตราดอกเบี้ยจากแหล่งเงินต่างๆ อยู่ เห็นว่าควรไม่สูงกว่า 2% ซึ่งประเด็นนี้จะต้องหารือร่วมกันอีก ซึ่งครั้งนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน คงต้องเปรียบเทียบให้ดีที่สุด ซึ่งประเมินฝ่ายเราเห็นว่าอัตราที่รวมสวอป ค่าคอมมิชชั่นแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2% หรือต่ำกว่า ส่วนจีนก็มีวิธีการคิดของจีนว่าอัตราที่ให้เป็นอัตราที่ถูกที่สุดแล้วสำหรับเงินกู้จีน

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดแผนการทำงานในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพื่อสรุปรายงานผลการศึกษาทั้งหมดฉบับสมบูรณ์เสนอ ครม. โดยขณะนี้จีนได้สำรวจออกแบบช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร คืบหน้าไปประมาณ 80% และจะส่งครบ 100% ในเดือน ธ.ค.58 คาดว่าจะก่อสร้างช่วงที่ 1 และ 3 ได้ประมาณกลางปี 2559

ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร ขณะนี้การออกแบบคืบหน้าประมาณ 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ