ขณะเดียวกันที่ประชุมได้ตั้งให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมอบหมายให้นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล จำกัด ในฐานะประธานหอการค้าไทย เป็นผู้ประสานงาน และรวบรวมกลุ่มเอกชนให้มีการจับกลุ่มธุรกิจมาดำเนินการในเรื่องของการเสริมการเรียนรู้การสร้างธุรกิจใหม่ การวิจัย การพัฒนา เพื่อสร้างการรับรู้รูปแบบใหม่ เตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
"การประชุมวันนี้ถือเป็นการเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในขั้นที่ 1 ซึ่งต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และหลังจากนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็จะนำแผนไปขับเคลื่อน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมายระเบียบ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการต่างๆได้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ขอให้ภาคเอกชนได้คำนึงถึงการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และรัฐบาลก็จะไปหาแนวทางอื่นๆ ทางด้านภาษี ด้านกฎหมาย ให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
"ข้อเสนอมีเยอะทั้งกฏหมาย ข้อสัญญา เขาก็พูดในฐานะนักธุรกิจ ผมก็บอกว่าต้องดูเรื่องรักษาผลประโยชน์รัฐก็ต้องปรับจูนกันที่อยู่ในกรอบของกฏหมาย เขาก็สัญญาว่าจะลดกำไรลงได้ในช่วงนี้ ผมก็บอกว่าดีสิครับ เดี่ยวรัฐบาลก็จะดูแลช่วยเหลือตรงไหน ถ้าเขามีอะไรกลับมาจะต้องดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์อะไรหรือไม่ แต่เป็นเรื่องกฏหมายนะ เรื่องใต้โต๊ะไม่มี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้านนายอิสระ กล่าวว่า การหารือระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนในวันนี้เรียกว่าเป็นเวทีประชารัฐที่ภาคธุรกิจได้เข้ามาร่วมรับฟังนโยบายในด้านต่างๆ ของรัฐบาล และต่างเห็นว่าต้องร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันในรูปแบบของการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน(Steering Committee) การพัฒนาในด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ก็จะขอความร่วมมือให้ห้างค้าปลีกช่วยจัดหาพื้นที่ในการวางจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตที่เป็น SMEs ให้มากขึ้น และสามารถแข่งขันได้ใน AEC ส่วนด้านการเกษตรนั้นก็จะร่วมกันพัฒนาสินค้าเกษตร พืชไร่ สัตว์น้ำ ตลอดจนการส่งเสริมการรวมกลุ่มสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง
นอกจากนี้ในเรื่องของการจัดหาที่อยู่อาศัยก็มีแนวคิดในการจัดสร้างบ้านราคาถูกเพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 10,000 บาท สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ในราคาไม่เกิน 6 แสนบาท ส่วนด้านการศึกษาก็จะให้ภาคเอกชนร่วมกันสนับสนุนการให้ทุนการศึกษา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาฝึกงานในบริษัทเอกชนมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างขีดความสามารถให้แก่นักเรียน นักศึกษา ขณะที่ภาครัฐเองได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้มากขึ้นแล้วด้วยการเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็น 1% ของ GDP จากเดิมที่มีงบเพียง 0.2-0.3% ของ GDP เท่านั้น