กกพ.เผยปรับอัตราค่าไฟฟ้าใหม่เริ่มใช้ในบิลค่าไฟฟ้าเดือนพ.ย.58

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 4, 2015 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกของ กกพ. ได้ชี้แจงเรื่องการปรับอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ว่า ภายหลังจากที่กกพ. ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 ประกอบด้วย โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง-ขายปลีก สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า และแนวทางการกำกับการดำเนินงานตามแผนการลงทุน เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ไปประกาศเผยแพร่อัตราค่าไฟฟ้าใหม่และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา โดยการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้มีการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เงินลงทุน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าเป็นสำคัญ

สำหรับสรุปสาระสำคัญของการปรับอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่มีดังนี้

1. การปรับค่าไฟฟ้าฐานใหม่ โดยนำค่าไฟฟ้าฐานเดิม 3.27 บาท/หน่วย และค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) เดือน พ.ค.- ส.ค. 58 ที่อยู่ระดับ 0.4961 บาท/หน่วย ไปรวมเป็นโครงสร้างฐานใหม่จำนวน 3.7661 บาท/หน่วย รวมทั้งได้นำเงินลงทุนที่ต่ำกว่าแผนของการไฟฟ้าในปี 2555-2556 การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการทบทวนตอบแทนของการไฟฟ้าที่สอดคล้องกับต้นทุนการเงินที่ลดลง มาคำนวณใหม่ ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าฐานลงได้เล็กน้อยที่จำนวน -0.0105 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าฐานใหม่นี้อยู่ในระดับ 3.7556 บาท/หน่วย และได้นำค่าไฟฟ้าฐานใหม่นี้มาคำนวณค่าไฟฟ้าตั้งแต่รอบบิลในเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป

2. ปรับการคำนวณค่า Ft ใหม่ โดยให้ค่า Ft เดือน พ.ค.-ส.ค. 58 เท่ากับศูนย์ แต่เนื่องจากการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ครั้งนี้ประกาศใช้ไม่ทันในเดือนกันยายน 2558 จึงได้คำนวณค่า Ft ตามสูตรเดิมและตามแนวโน้มของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงสำหรับเดือน ก.ย.-ธ.ค. 58 เท่ากับ 46.38 สตางค์/หน่วย หรือคิดเป็นค่า Ft ที่ลดลงจำนวน 3.23 สตางค์/หน่วย ดังนั้น เมื่อมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป จึงกำหนดให้ค่า Ft ใหม่ สำหรับการเรียกเก็บในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 58 เท่ากับ -3.23 สตางค์/หน่วย ซึ่งจะเท่ากับการปรับลดค่า Ft ในเดือน ก.ย.-ต.ค. 58 ที่ผ่านมา นายวีระพล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับค่าไฟฟ้าครั้งนี้ กกพ. ได้มีการทบทวนมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 โดยกำหนดผู้ที่ได้รับค่าไฟฟ้าฟรีตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าเดือนม.ค. 59 เป็นต้นไป จะต้องเป็น “ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย รวมถึงวัดและโบสถ์ของศาสนาต่างๆ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ที่ต้องไม่เป็นนิติบุคคล และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน" เพื่อเป็นการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยที่แท้จริงเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดการทบทวน ดังนี้

1. ผู้ที่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรี ต้องไม่เป็นนิติบุคคล เช่น กรณีการก่อสร้างบ้านที่รอการจำหน่าย รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก เพื่อเป็นการปรับลดภาระเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าในส่วนนี้ลง แต่สำหรับกรณีบ้านพักของหน่วยงานราชการซึ่งมีมิเตอร์ย่อย วัดหรือสำนักสงฆ์ขนาดเล็ก เพื่อการอยู่อาศัย และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ตามเงื่อนไขที่ กพช. กำหนด จะยังคงได้รับสิทธิการใช้ไฟฟ้าฟรี

2. การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยดูจากข้อมูลหน่วยการใช้ไฟฟ้าเดือนปัจจุบัน และการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 2 เดือน

(1) กรณีมีการใช้ไฟฟ้าตามบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 - มกราคม 2559 ไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกันทั้ง 3 เดือน จะได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าฟรีในเดือนมกราคม 2559

(2) กรณีเดือนใดไม่มีการใช้ไฟฟ้า ให้ถือเป็นการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน

(3) ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่ที่เริ่มมีการใช้ไฟฟ้าตามบิลค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป จะยังไม่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี จนกว่าจะมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าตามบิลค่าไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน

(4) ผู้ใช้ไฟฟ้ามีการใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 50 หน่วย/เดือน จะไม่ได้รับสิทธิการใช้ไฟฟ้าฟรีในบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนนั้น และจะได้รับสิทธิอีกครั้งเมื่อมีการใช้ไฟฟ้าตามบิลค่าไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน

“การทบทวนมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ได้รับการอุดหนุนจากจำนวน 4.4 ล้านรายในปัจจุบัน ลดลงเหลือประมาณจำนวน 3.3 ล้านราย ซึ่งจะทำให้ลดภาระเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มต่างๆ ทั้งกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ไฟชั่วคราว ไฟสำรอง อัตราค่าไฟฟ้าที่สามารถงดจ่ายไฟฟ้าได้ จากระดับ 2.65 สตางค์/หน่วยในปัจจุบัน ลดลง 0.07 สตางค์/หน่วย เหลือ 2.58 สตางค์/หน่วย" นายวีระพล กล่าว


แท็ก ค่าไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ